“ศาสตราจารย์กิตติคุณ แพทย์หญิง ท่านผู้หญิงศรีจิตรา บุนนาค : แพทย์ผู้ถวายงานใต้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙


เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยเพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมและได้ เรียนรู้จากประสบการณ์อันงดงามของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ ผู้เคยรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ดังนั้นในเดือนนี้พวกเราจึงได้รับความกรุณาจาก “ศาสตราจารย์กิตติคุณ แพทย์หญิง ท่านผู้หญิงศรีจิตรา บุนนาค” หนึ่งในบัณฑิตผู้ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๐๒ และยังเป็นแพทย์ผู้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ และพระบรมวงศานุวงศ์ อาจารย์เป็นผู้ที่มีโอกาสได้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิดและน้อมนำแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มาเป็นแนวในการปฏิบัติตนทั้งในฐานะแพทย์ และในฐานะประชาชนชาวไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษในโอกาสนี้
ในฐานะที่อาจารย์เป็น แพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ ๗ อยากทราบว่าการเรียนสมัยก่อนเป็นอย่างไรบ้าง
สมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่ก็จะเรียนจากครูอาจารย์และอาจารย์ใหญ่ของเรา อาจารย์มักจะสอนมาเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ต้องไปค้นคว้าเอาเองจาก textbook ภาษาอังกฤษ เพราะระยะนั้นไม่ค่อยมีตำราภาษาไทย จึงให้ตำราภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ค้นคว้ากันในนั้นแล้วก็ทำ short note มาแบ่งกันกับเพื่อน
เราเรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ Premed อยู่ ๒ ปีแล้วจึงข้ามมาเรียนปี ๓ เราเรียกว่าข้ามฟาก ฟากหนึ่งก็ไปศิริราช อีกฟากก็ข้ามถนนอังรีดูนังต์มาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ตอนนั้น ยังไม่มีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงเรียนรวมกันระหว่างจุฬาฯ และศิริราชในช่วงเตรียมแพทย์ เจอกันที่คณะวิทยาศาสตร์ ก็จะรู้จักกันดี หลังจากจบไปก็ยังติดต่อกันอยู่ ช่วง ๒ ปีนั้นก็มีความสุขดี อาจารย์ไม่ค่อยดุ การบ้านก็ไม่ค่อยเยอะ (หัวเราะ) พออาจารย์ข้ามมาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ปีแรกที่หนักใจที่สุดก็คือ กายวิภาคศาสตร์ จำได้ว่าอาจารย์หมอบุญรักษ์(๑) ท่านเป็นอาจารย์ภาควิชากายวิภาค ท่านมายืนคุมเรามีกัน ๔ คนต่อ อาจารย์ใหญ่ ๑ ท่าน อาจารย์ก็บอกว่า เปิดสิ มีพลาสติกดำ ๆ ปิดอยู่ เรารู้สึก ไม่พร้อม ใจไม่พร้อมเลย แต่ก็เปิด ก่อนเปิดก็กราบอาจารย์ใหญ่ “วันนั้นเป็นวันที่รู้สึกว่า เอ๊ะ เรียนแพทย์ต่อดีหรือเปล่า ? แต่จริงๆ ก็ เป็นความตั้งใจจริงมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ อยากเป็นหมอ” คุณแม่เองก็เป็นพยาบาล ก็มีน้า น้องของคุณแม่ซึ่งเป็นหมอ การเรียนที่จุฬาฯ ก็มีความสุขแบบหนึ่ง เป็นความสุขที่ค่อนข้างจิตสงบ ไม่มีสิ่งรบกวนหรือ distract เรามาก ก็มุ่งหวังในการที่จะสำเร็จการศึกษา
ปีที่เป็น clinical year ก็คือปี ๓ -๔ ก็ สนุกมีคนไข้ “คนที่เป็นครูที่ดีมากก็คือคนไข้” นอกจากอาจารย์ที่สอนแล้วก็จะได้เรียนรู้จากคนไข้ แล้วไปดูตำรา ถามอาจารย์ถ้าเรามีข้อสงสัยอะไร ถ้าเราขยันก็ทำ short note แล้วก็แบ่งกันระหว่างเพื่อน ก็จะช่วยให้สอบผ่านไปได้ นั่นล่ะคือการเรียนสมัยก่อน
เรื่องที่ประทับใจที่สุดในการเป็นนิสิตแพทย์จุฬาฯ
ประทับใจ อาจารย์หลายๆ ท่าน อย่างเช่น อาจารย์ทวี ตุมราศวิน(๒) ท่านเป็นหัวหน้าหน่วยโรคหัวใจ อาจารย์เฉลิม พรมมาส(๓) ช่วงนั้นยังมาสอนปี ๒ ที่ภาควิชาพยาธิวิทยา อาจารย์มาเป็นผู้ประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทุนอานันทมหิดลเป็นครั้งแรก สำหรับแพทย์ที่จบมาแล้วเรียนดี มีประวัติมีนิสัยดี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน อาจารย์จรัส สุวรรณเวลา(๔) เป็นคนแรกที่ได้รับพระราชทาน ส่วนอาจารย์ประเวศ วะสี(๕) ก็อยู่ในปีเดียวกันก็ได้รับพระราชทานเช่นเดียวกัน ปกติในปีหนึ่งๆ จะให้ทุนได้แค่ ๑ คน แต่พอดีปีต่อมาอาจารย์แพทย์ที่จบไม่ได้เกรดระดับตามที่ requirement ปีนั้นจึงไม่มีใครได้รับพระราชทานทุน อาจารย์ประเวศ วะสีจึงได้รับทุนต่อจากปีก่อน จากนั้น “เราก็ได้รับพระราชทานทุนเป็นคนที่ ๓”
ความประทับใจมีหลายเรื่อง อย่างเช่น อาจารย์สมาน มันตาภรณ์(๖) ซึ่งเป็นอาจารย์ทาง thoracic surgery จบมาจากอังกฤษ อาจารย์ขยันมาก ผ่าตัดหัวใจเยอะ แล้ว “เราซึ่งเป็นนิสิตอยู่ท่านก็ดูแลคล้ายๆ กับเป็นหมอแล้ว” เข้าห้องผ่าตัดท่านก็ให้ช่วยเหลือ ได้มีส่วนร่วมเยอะมาก ทำให้รู้สึกว่าเราได้มีความรู้ในด้านภาคปฏิบัติ มีทักษะมากขึ้น ที่ประทับใจมากก็คือ เราได้ผ่านภาควิชาใหญ่ๆ อย่างอายุรศาสตร์ ศัลยกรรม สูติ-นรีเวช แล้วยังได้ผ่านภาคเล็กๆ เช่น หู คอ จมูก และจักษุ ทำให้เราได้มีความรู้รอบตัว ถึงจะไม่ได้ลึกมาก แต่ก็ทำให้มีความมั่นใจในการวินิจฉัย แล้วที่ประทับใจก็คือ “อาจารย์จะสอนเป็นระบบมาก” เช่นเวลาเจอคนไข้มาก็ต้อง ซักประวัติอย่างละเอียด ทั้ง present illness และ past history ตรวจร่างกายก็ตรวจเป็นระบบเป็นลำดับ ก็จะช่วยในด้านการวินิจฉัยได้อย่างมากรวมทั้งช่วยในด้านการป้องกันโรคในอนาคต
อยากให้ช่วยเล่าประสบการณ์การเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านของอาจารย์
สมัยก่อนกับสมัยนี้จะต่างกัน อาจารย์สอบได้ในปี ๒๕๐๐ ก็ได้รับพระราชทานทุน แต่ว่าทุนอานันทมหิดล สำหรับช่วงนั้นจำกัดไว้ว่า ต้องทำงานในประเทศก่อน ๒ ปีจึงจะไปต่างประเทศได้เพื่อให้รู้ปัญหาของโรคต่าง ๆ ในประเทศไทย และก็เมื่อไปถึงต่างประเทศจะได้รู้ค่อนข้างลึกซึ้งว่าเราจะเรียนอะไรแน่ ในสาขาวิชาไหน เริ่มต้นก็จะเป็นแพทย์ประจำบ้านที่จุฬาฯ ได้ผ่านวอร์ดต่างๆ ทั้งศัลยศาสตร์ สูติ-นรีเวช อายุรศาสตร์ ทำให้เราได้ทบทวน อีกทีว่าเราอยากเรียนสาขาวิชาไหน จากนั้นปีที่ ๒ ก็เป็น senior house officer สอนน้องที่เป็น house officer หรือ intern อีกทีหนึ่ง พวกเราก็จะสนิทกันมาก นอนด้วยกัน หอพักเดียวกันเตียงใกล้ ๆ กันส่วนใหญ่ มีอะไรก็คุยกันถ่ายทอดซึ่งกันและกัน ช่วงนั้นได้ความรู้เยอะมาก
ตอนนั้นเรายังเด็กมาก พึ่งจบใหม่ ๆ ทำงานกับอาจารย์ต่าง ๆ จะชอบเพราะว่า “พวกเรากับนิสิตแพทย์รับคนไข้จะทำงานกันเป็นทีม” เรามีสิทธิที่จะรักษา Congestive heart failure ได้โดยไม่ต้องบอกพี่แพทย์ประจำบ้านปี ๒ เพราะเคสเยอะหมอน้อย รุ่นพี่ก็ทำงานหนัก เราก็เลยได้มีความรู้เรียกว่าค่อนข้างจะดี ไปต่างประเทศนี่สบายเลย สบายซะจนถูกดุ ไปรักษาคนไข้ Adrenal cortical insufficiency จนหายแล้วเราไม่ได้บอก “อาจารย์ผู้ใหญ่ ถูกดุใหญ่เลย ทำไมไม่ notify แต่พอเขามาเห็นคนไข้ดีก็ดุน้อยลง แล้วก็ค่อนข้างจะเข้าใจละ ว่าเรามีความรู้”
เพราะเหตุใดอาจารย์ถึงตัดสินใจมาเรียนอายุรศาสตร์
เราชอบ ชอบมาก จะได้เรียนพยาธิวิทยาเป็นรากฐานซึ่งได้รู้ว่าพยาธิสภาพมันอยู่ที่ไหน ในโรคนั้น ๆ พอขึ้นปี ๓ แล้วชอบที่สุด เพราะว่าได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้ เราคิดว่าเราได้ช่วยเขาแน่นอน ด้วย “ความรักในวิชานี้ รากฐานพยาธิวิทยา สรีรวิทยา biochemistry ต่าง ๆ ที่ได้ไป คิดว่ามันปูพื้นเรามาเยอะพอสมควร ทำให้อยากเรียนอายุรศาสตร์” แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้ตั้งใจจะเรียนอายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อ อยากเรียน cardiology หรือ hematology เพราะชอบมาก แล้วก็ต้องเปลี่ยนใจ เพราะอาจารย์ hemato ก็มีแล้ว cardio ก็มีแล้ว มีมาเยอะแล้วด้วย หมอไตก็มีแล้ว endocrince ยังไม่มี immuno ก็ยังไม่มี เราก็เลยยื่น endocrine หลังจากที่กลับมาทำทาง ก็มีอาจารย์ประพันธ์ ภานุภาค(๗) ที่เป็นลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ มาหาก็ถามว่าเรียนอะไรดี ก็เลยแนะนำให้เรียน immunology ซึ่งอาจารย์ไปทำมาแล้วก็ได้ประโยชน์อย่างมากมาย วินิจฉัยโรค AIDS immunodeficiency ซึ่งเป็นคนแรกที่วินิจฉัยโรคนี้ ที่เกิดขึ้นกับคนไทย
ทราบว่าอาจารย์เป็นผู้ร่วมบุกเบิกราชวิทยาลัยอายุรแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ตอนนั้นอาจารย์เริ่มต้นอย่างไรบ้างค่ะ
อาจารย์ที่บุกเบิกร่วมกันมาเป็นทีม และหลาย ๆ มหาวิทยาลัยร่วมมือกัน อาจารย์วีกิจ(๘) เป็นหัวหน้าทีม ท่านอายุมากที่สุด อาวุโสที่สุดและก็มีพลังสูงมาก แล้วก็มีศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ(๙) ศาสตราจารย์นายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา(๑๐) ด้วย อาจารย์ชาญ สถาปนกุล(๑๑) ที่อยู่เชียงใหม่ หลาย ๆ มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วม แล้วเราก็เริ่มก่อตั้งขึ้นมา เราจะเป็นผู้ดูแลเรื่องการศึกษา เขาขอให้เป็นประธานจัดหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน ก่อนหน้านี้ก็เคยมอบหมายให้อาจารย์บางท่าน เช่น อาจารย์สุภา ณ นคร(๑๒) ท่านทำยังไม่เสร็จ เราก็รับต่อมาจัดการทำหลักสูตรให้เรียบร้อย ใช้กันมาอยู่จนปัจจุบัน แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนในช่วงที่อาจารย์วิทยา ศรีดามา(๑๓) เป็นประธานราชวิทยาลัย ได้มาปรับเปลี่ยนอีกครั้ง ทุกอย่างก็ต้องมีการ modified วิชามันขับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง บางสิ่งบางอย่างที่เราคิดว่าในตำราที่อาจารย์สอนมันใช่ แต่มันไม่ใช่ “การแพทย์มีการวิจัยลึกซึ้งมากมาย เปลี่ยนทฤษฎีไปหมด เราก็ต้องรับฟังไว้แล้วเอามาพิจารณา เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตนะ” ไม่ใช่ว่าจบแพทย์หรือแพทย์ประจำบ้านเสร็จแล้วก็จบไป อ่านตามไม่ทัน มันไม่ใช่ (หัวเราะ) ข้อมูลมันเยอะเหลือเกิน ในด้าน subcellular ด้วย มันไกล genetics ก็ไปไกลมาก
ประสบการณ์ของอาจารย์ที่ได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
อาจารย์ก็ได้ตามเสด็จไปพัฒนาต่างจังหวัด ท่านจะเสด็จลึกเข้าไปในป่า พัฒนาหมู่บ้านชาวบ้านที่ไม่ค่อยมีใครไปถึง ชาวบ้านไม่มีส้วม พวกที่ไปด้วยกันใช้วิธีถือเป็นผ้าหรือเป็นเสื่อ ๒ คนกาง อีกคนก็ไปทำธุระ เราเรียกกันว่าไปจับกระต่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเวลาที่เสด็จเยี่ยมราษฎร ในระยะที่พระชนมพรรษาสัก ๔๐-๕๐ “ท่านก็จะทรงถามถึงทุกข์สุขของราษฎร ที่บ้านมีส้วมมั้ย อ้าว ถ้าไม่มีแล้วไปที่ไหนล่ะ ท่านก็จะทรงรับสั่งถาม จากนั้นไม่กี่วัน ท่านก็จะส่งคอห่านไปให้ เพื่อที่จะทำส้วม”
บางทียาที่เด็ก ๆ ต้องรับประทาน “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงป้อนเด็ก ๆ ให้เองเลย อย่างยาฆ่าพยาธิท่านก็ทรงป้อน” เพราะใช้ dose เดียว ถ้าเอากลับบ้านทรงเกรงว่าเด็กจะไม่ได้กินยาตามสั่ง การทรงงานของท่านมีผลต่อการสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศอย่างมหาศาล นอกจากการเสาะหาน้ำสะอาดให้แล้ว ท่านยังทำให้โรคเรื้อนหายไป สมัยก่อนตามสะพานลอยข้ามถนนที่เราเดินผ่าน จะมีคนจมูกแหว่ง ปากโหว่คอยถือขันขอทาน บางทีก็จะมาพยายามจับไม้จับมือ ท่านเห็นปัญหานี้ท่านก็หาบุคลากรทางการแพทย์แพทย์และความช่วยเหลือจากต่างประเทศ สร้างโรงพยาบาลราชประชาสมาสัย ไม่ใช่เท่านั้นยังสร้างอาชีพ จนคนเหล่านี้นี่หายขาดแล้วก็มีอาชีพ เลี้ยงตนเองได้ มีครอบครัวได้ มีบุตรซึ่งออกมาเป็นปกติไม่ได้เป็นโรคนี้ แข็งแรง สมบูรณ์ เรียบร้อย เรียกว่าท่านทรงพัฒนาครบวงจรจริงๆ
ท่านอยากให้คนไทยทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข ท่านตรัสว่า “ความสุขจะมีได้ต้องสบายใจ สบายใจได้ก็ต้องสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี มีปัจจัยสี่” ท่านก็สนับสนุนเรื่องปัจจัยสี่ ทำให้เกิดขึ้นให้ได้มาตั้งแต่ก่อนที่จะมีเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แล้วก็พัฒนาแหล่งน้ำ น้ำคือชีวิตจริง ๆ ซึ่งไม่มีใครแล้วที่จะทำได้ ใครรู้จักไร่ชั่งหัวมันบ้าง นั่นก็เป็นศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงที่ท่านตั้งขึ้นเป็นตัวอย่าง รวมทั้งมีพลังงานทางเลือกและมีพลังงานแสงแดดเลี้ยงในสวนไร่หัวมัน
อาจารย์คิดว่าพวกเราจะสามารถนำการแพทย์ของเราไปช่วยอย่างไรได้บ้าง
การแพทย์ของเราไปช่วยได้เฉพาะหน้า เราทราบว่าเขาขาดอะไร เป็นท้องเสียกันเยอะ สาเหตุจากอะไร ขาดน้ำสะอาด อาหารสะอาด ถูกสุขลักษณะ เราก็จะมีโอกาสกราบบังคมทูล ที่อาจารย์ได้เฝ้าบ่อยคือสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าที่พระราชทานโอกาสให้คอยช่วยเหลือทำงานด้านการแพทย์ถวาย เพราะว่าช่วงที่กลับมาจากการศึกษาต่อในต่างประเทศ แพทย์ประจำพระองค์คือศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์(๑๔) ซึ่งเป็นพระญาติของท่าน เป็นสูติ-นรีแพทย์ ถวายพระประสูติกาลเกือบทุกพระองค์ อาจารย์ก็ดึงเราเข้าไปช่วย คือ “พระองค์ท่านทรงแข็งแรงทั้งสองพระองค์ ไม่ค่อยจะทรงพระประชวร” จะมีก็ประชวรหวัดนิด ๆ หน่อย ๆ
การเป็นแพทย์ที่ได้ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างไร
มีอยู่สมัยหนึ่งท่านโปรดสัตว์เลี้ยง ก็มีคนถวายลิง ลิงก็ค่อนข้างจะซน ท่านก็คงทรงเล่นด้วย นิ้วพระหัตถ์ถูกขบ อาจารย์หม่อมหลวงเกษตรก็เรียกให้เราไปฉีด tetanus antitoxin กลัวมากเลย กลัวท่านจะทรงแพ้ ก็เตรียมพระโอสถเต็มที่ ทั้ง adrenaline ทั้ง steroids กลัวท่านแพ้มา เราจะแย่ ก็โชคดีที่ไม่ทรงแพ้
แล้วก็ช่วยมาตลอดค่ะ พออาจารย์หม่อมหลวงเกษตรไม่อยู่ ก็เป็นพลโท นายแพทย์ หม่อมหลวงจินดา สนิทวงศ์(๑๕) orthopedic surgeon เป็นน้องของอาจารย์เกษตรมาเป็นแพทย์ประจำพระองค์ อาจารย์ก็ช่วยต่อ ต่อมาเป็นศาสตราจารย์ นายแพทย์ดนัย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา(๑๖) เป็นอดีตอาจารย์จุฬาฯ ทางด้านกุมารเวชศาสตร์ อาจารย์ไม่ค่อยใช้เราเท่าไหร่ เพราะว่ากุมารเวชศาสตร์กับอายุรศาสตร์ใกล้เคียงกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรักอาจารย์หมอดนัยมาก มีอะไรท่านก็จะทรงปรึกษา เราก็จะไปถวายการดูแลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ กับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับสมเด็จพระเทพรัตนฯ พระราชทานความไว้เนื้อเชื่อใจตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ก่อนเสด็จเข้าศึกษาที่จุฬาฯ เราก็คล้าย ๆ เป็นผู้ช่วย family doctor
ต้องขยายความนิดนึง เราไม่ใช่แพทย์หลวง แพทย์หลวงเขาจะเป็นอีกสำนักหนึ่ง สำนักนี้จะเป็นสำนักแพทย์ประจำพระองค์ แยกออกมา ส่วนเราเป็นข้าราชการนี่แหละ แต่เหมือนเป็นอาสาสมัครเข้าไปถวายงานเท่านั้นเอง ไม่มีตำแหน่งอะไร แต่ก็จะมีบัตรติดว่าสังกัดแพทย์ประจำพระองค์ ชาวบ้านก็จะเรียกกันแพทย์หลวง ๆ ก็ไปตรวจ ทุกครั้งที่ตามเสด็จก็จะทำหน้าที่คล้ายแพทย์หลวง แล้วก็พวกข้าราชบริพารของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทุกคนจะถูกหัดให้มีหน้าที่เป็นพยาบาลหรือเภสัชกร ให้จ่ายยา แล้วก็จับได้ด้วยว่า “ชาวบ้านมาเอายามาแล้วสองครั้ง มาสองหน แล้วก็จับได้ด้วยว่า บางครั้งยาที่เอาไป ไปแขวนไว้ข้างฝา เอาไปบูชา”
อยากทราบความรู้สึกของอาจารย์ที่ได้มาทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ จริง ๆ ทรงพระกรุณามาก “ทรงสอนทุกอย่าง ทรงสอนก่อนที่จะเข้าไปทำงานในวัง ให้ทั้งวิธีปฏิบัติตัว สภาวะแวดล้อมเป็นยังไงในนั้น ต้องรู้จักรักษาตัว” เพราะว่ามนุษย์มีอยู่หลายจำพวก(หัวเราะ) ท่านทรงพระกรุณามากที่ทรง brief ทุกอย่างให้ ทำให้เราไม่รู้สึกลำบากใจมากในการปฏิบัติงาน แล้วพออยู่มานาน ๆ ก็รู้สึกเหมือนทุกคนเป็นพี่เป็นน้อง เราไม่ได้รักษาแต่เจ้านาย เรารักษาทุกคนที่อยู่ในนั้น จะเป็นข้าราชบริพาร คนขับรถ แล้วก็ดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนประจำปีที่ทุกคนต้องการ ข้าราชบริพารคนขับรถจะได้หมด เหมือนกันหมด แต่เราก็ถวายงานด้วยความระมัดระวังที่สุดกับพระองค์ท่านและพระบรมวงศานุวงศ์ เวลาที่มีปัญหาทางอายุรศาสตร์ก็จะถูกส่งไป เช่น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ที่ทรงไว้วางใจ ส่งไปเฝ้าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ Switzerland ท่านทรงเลี้ยงเรา ให้ไปนู่นไปนี่ไปนั่น(หัวเราะ) ท่านทรงพระประชวรแต่กลับดูแลเราเสียอีก ทรงพระกรุณามาก แล้วก็ถูกส่งไปถวายการตรวจหลาย ๆ พระองค์รวมทั้งพระด้วย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลลาราม ก็ไปกับหมอสิโรตม์(๑๘) ซึ่งเป็นผู้ชายจะได้ตรวจถวายได้ถูกต้อง เราก็เป็นผู้ช่วยอยู่เบื้องหลัง แล้วก็โชคดีได้เดินทางต่างประเทศ ๔๒ วันรอบโลกเลย ตามท่านไปจนถึงวาติกัน ไปกับหมอสิโรตม์ด้วย ได้เดินทางเยอะเลย
อาจารย์ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ทางการแพทย์และชีวิตการเป็นหมอ อย่างไรบ้าง
“คำสอนของท่านดีหมด นำมาใช้ได้ทั้งหมดในชีวิต หนังสือ “คำสอนของพ่อ” ทุกคนน่าจะมี” สำหรับอาจารย์เองยังไม่มี แต่ว่าจะตัดจากหนังสือสหกรณ์จุฬามาเป็นประจำ หลังหน้าปกหรือหน้าที่สองจะมีพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ตรงนั้น อาจารย์อ่านแล้วก็ตัดเก็บมาเรื่อย
“คำสอนที่คิดว่านำมาใช้ในชีวิตแพทย์และนิสิตแพทย์ได้ดีสุดเลย คือ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เรามีอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนไข้ ต้องเข้าใจ ถึงประวัติปัจจุบัน ประวัติอดีต สังคม อาชีพ ประวัติครอบครัว จะช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงผู้ป่วย บางครั้งเข้าถึงครอบครัวของเขาด้วย ส่วนพัฒนาก็คือ นำมาพัฒนาวิธีการรักษาที่เป็นขั้นตอนและป้องกันไม่ให้เขาเป็นโรคเดิมอีกถ้าทำได้ สมัยก่อนต้องฉีด BCG นั่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็ทรงช่วยพัฒนา ท่านเสด็จภาคเหนือ ภาคอีสานท่านเห็นคนไข้คอพอกเยอะเลย มีเด็กเตี้ยแคระ IQ ต่ำก็ไม่น้อย ท่านทรงเข้าพระทัยว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ขาดสาร iodine ท่านจึงทรงทำเครื่องมือผสมเกลือ ไอโอดีน กระจายไปตามโรงเรียนต่าง ๆ นอกจากนี้ครูตามชายแดนก็หายาก จึงทรงเอาตำรวจชายแดนมาเป็นครู แล้วก็สอนแบบเศรษฐกิจพอเพียง ท่านทรงทำมาตลอด สิ่งที่ท่านมองหามากสุดคือแหล่งน้ำ เมื่อได้น้ำมาแล้วทุกอย่างจะดำเนินต่อไปได้ ถ้าไม่มีแหล่งน้ำ ก็จะตั้งต้นอะไรต่อไปไม่ได้เลย
จนถึงปัจจุบัน อาจารย์เห็นว่ามีสิ่งไหนที่เราควรพัฒนาเพิ่มเติมไหมคะ
มีแน่ พัฒนาเพิ่มเติม (หัวเราะ) ปัจจุบัน มีอีกเยอะที่เราควรจะพัฒนา เรายังมีอะไรอีกที่ทำได้เยอะ อย่างสาขาต่อมไร้ท่อนี่ควรร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขให้มากกว่านี้ ประสานงานกันป้องกัน โรคขาดไอโอดีน โรคอื่น ๆ ทางด้านต่อมไร้ท่อยังทำได้อีก ถ้าได้ประสานทางด้านโภชนาการ ทำไมเด็กไทยถึงไม่สูงแต่เตี้ยลง ทำไม IQ ถึงลดลง เป็นประเด็นที่ต้องแก้ไข เราเชื่อว่าภาวะขาดไอโอดีน ยังคงมีอยู่ในประเทศเรา อันที่สอง โภชนาการของเรายังไม่ค่อยดีพอ เรายังมีคนยากจน ไม่ค่อยได้รับการศึกษา มารดาที่ตั้งครรภ์ ต้องเตรียมไม่ให้ขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก พยาธิในประเทศไทยก็ยังเยอะเหลือเกิน โรคพิษสุนัขบ้า ก็ต้องรู้จักจดทะเบียนควบคุมสุนัข จะทิ้งให้เป็นสุนัขตามวัดวาอารามไม่ได้ คิดว่าพวกเรายังมีส่วนที่จะพัฒนาได้อีกเยอะ อย่างเช่นพิษสุนัขบ้าเราก็มีแพทย์ที่ทำเรื่องนี้เยอะอยู่ที่จุฬาฯ ของเรานี่เองอาจารย์ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา(๑๙)
ในส่วนด้านวิชาการโรคต่อมไร้ท่อ วิธีพัฒนาของเราก็คือ หลังจากที่ตั้งหน่วยต่อมไร้ท่อแล้ว ก็เริ่มตั้งเป็นสมาคม ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อันนี้นี่จะช่วยให้สาขาวิชานี้มีความเจริญขึ้นเนื่องจากเราจัดประชุมประจำปี มีแขกต่างประเทศที่มีชื่อเสียงในด้าน Endocrinology มาพูดให้ความรู้ ได้ update อยู่ตลอด เรียกว่าค่อนข้างจะดี หลังจากนั้นก็ตั้ง ASEAN Federation of Endocrine Societies (AFES) มีการประชุมทุก ๒ ปี ผลัดกันไปแต่ละประเทศ ตอนนี้สมาพันธ์มีเกือบสิบประเทศแล้ว
เพราะฉะนั้น ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์นี่สำคัญสุดเลย ที่จะทำให้ดึงวิชาการเราดีขึ้นเร็วและการหาเพื่อน ทั้งในและต่างประเทศ “เราไม่ควรคิดว่าใครมาจากมหาวิทยาลัยไหน ทุกคนเป็นเพื่อนกัน” แล้วก็จุฬาฯ ต้องไม่รับแต่จุฬาฯ เท่านั้น เรารับต่างถิ่นบ้าง ที่ดี ๆ จะได้มาดึงพวกเราให้ดีขึ้น การรับแพทย์ประจำบ้านก็ลักษณะเดียวกัน ของเราที่ดีก็มีไปที่อื่นด้วย ที่รามาก็มีของเราดี ๆ ไปหลายคน เขาบอกว่าอย่างนี้ คนดี ๆ ส่งไปที่อื่นดีแล้ว ไปทำชื่อเสียง เด็กไม่ดีให้เอาเก็บไว้ (หัวเราะ) เอาให้ดีก่อนแล้วค่อยปล่อยไป เพื่ออันที่หนึ่งความรู้จะได้แน่น มีความเชื่อมั่น การรักษาคนไข้จะไม่ค่อยมีการสูญเสีย ซึ่งในชีวิตอาจารย์ก็เป็นอย่างนั้นนะ ไม่ค่อยมีการสูญเสีย ใครเขาบอกรักษาไม่หาย เราก็ช่วยจนมีชีวิตต่อไปได้อีกนาน พอจะทำได้
อาจารย์อยากอะไรฝากถึงรุ่นน้องคณะแพทย์จุฬาฯ
อยากบอกน้อง ๆ ว่า ให้ทำตามคำสอนของพ่อให้มาก และพระราชดำริที่ท่านให้ไว้ เศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเข้าใจ เข้าถึง สามารถนำไปใช้ได้หมด ที่อยากฝากถึงนิสิตแพทย์แพทย์รุ่นน้อง ๆ ก็คือว่าปัจจุบันนี้ศาสตร์มันก้าวหน้ามาก ทั้งกว้างและลึก อย่าเผลอไปลึกเกินไปโดยลืมสิ่งง่าย ๆ คือการซักประวัติโดยละเอียดและการตรวจร่างกายที่เคยสอนกันมาเรียนกันมา ถ้าเราแม่นยำแล้วก็ทำเป็นขั้นตอน ต้อง holistic approach อย่าลืมพื้นฐานแล้วเราก็ค่อยพิจารณาว่าเราควรต้องส่งตรวจแล็ปอะไร แล้วการป้องกันโรคก็ถือว่ามีความสำคัญ การแนะนำผู้ป่วยก่อนกลับบ้านยิ่งสำคัญ จะเป็นในแง่การโภชนาการ การออกกำลังกายหรือว่าวิธีใดที่จะป้องกันไม่ให้เขามีโรคกลับมา
“อย่าไปเครียดกับมันมากนัก ความเครียดไม่ดี บั่นทอนชีวิตเราทุก ๆ ด้าน เรียนอย่างสบายใจทำงานอย่างสบายใจ” อย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่าน “ทรงสอนไว้ คนเราจะทำงานได้ต้องมีความสบายใจ” ท่านทรงรับสั่งไว้ แล้วแน่นอนต้องมีความสุขด้วยสุขกับการทำงาน ที่ทำให้อาจารย์มีแรงอยู่ได้ก็เพราะดูพระองค์ท่านทั้งสองพระองค์เป็นตัวอย่าง แล้วประโยชน์ที่ได้รับที่เราได้เห็นมันมากมายมหาศาล แล้วก็ยังมีที่ท่านรับสั่งกับ ดร.สุเมธ(๒๐) ไว้
“งานยังไม่จบนะ งานยังไม่จบ ยังมีสิ่งที่ให้พวกเราทำต่อไปอีกเยอะ ฝากด้วย”
รายนามบุคคลที่กล่าวถึงในบทความ
-
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์บุญรักษ์ กาญจนะโภคิน อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๑ – ๒๕๒๒
-
ศาสตราจารย์อุปการคุณ พันตรี นายแพทย์ ทวี ตุมราศวิน อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๐๙ – ๒๕๑๖ และอดีตหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๑๗
-
ศาสตราจารย์อุปการคุณ นายแพทย์ เฉลิม พรมมาส หรือ หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ อดีตผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้ร่วมก่อตั้งและรักษาการคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
-
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา แพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ ๕ ประธานกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๘ อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บัณฑิตผู้ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลเป็นคนแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐
-
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
-
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมาน มันตาภรณ์ แพทย์ไทยคนแรกที่ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด ผู้ก่อตั้งหน่วยปอด-หัวใจในแผนกศัลยศาสตร์ และหอสมุดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
-
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ประพันธ์ ภานุภาค แพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ ๑๘ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๘ บัณฑิตผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๓
-
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์วีกิจ วีรานุวัตติ์ ผู้ร่วมก่อต้องราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและดำรงตำแหน่งประธานท่านแรก ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยและเอเชีย
-
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตนายกราชบัณฑิตยสถานและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
-
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ วิศิษฏ์ สิตปรีชา แพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ ๗ ผู้อำนวยการสถานเสาวภาและผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๒ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๗
-
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญ สถาปนกุล อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
-
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงคุณสุภา ณ นคร ผู้บุกเบิกงานโรคธาลัสซีเมียของประเทศไทย อดีตกรรมการบริหารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง
-
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิทยา ศรีดามา แพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ ๒๕ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วาระที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๑
-
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อดีตเลขาธิการสภากาชาดไทยและอดีตกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอานันทมหิดล
-
พลโท นายแพทย์ หม่อมหลวงจินดา สนิทวงศ์ แพทย์ประจำพระองค์และราชองครักษ์พิเศษ พระมาตุลาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙
-
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ดนัย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แพทย์พระราชทานคนแรก แพทย์ประจำพระองค์ และอดีตอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-
นายแพทย์สิโรตม์ บุนนาค แพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ ๗ แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
-
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ ๒๘ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองและผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๗ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗
-
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ข้าราชบริพารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
คณะทำงาน
เรียบเรียง: นางสาวศิวภรณ์ มโนมัยสันติภาพ นิสิตแพทย์ รุ่นที่ ๖๙
สัมภาษณ์: นางสาว อภิสรา ว่องไวกิจไพศาล นิสิตแพทย์ รุ่นที่ ๖๙
นางสาว ปาณิสรา ฟางสะอาด นิสิตแพทย์ รุ่นที่ ๖๙
นางสาว ชนนันท์ ชูชีพชื่นกมล นิสิตแพทย์ รุ่นที่ ๗๑
พิสูจน์อักษร : นายแพทย์วรพล จรูญวณิชกุล แพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ ๕๘
นายแพทย์ภาสกร วันชัยจิระบุญ แพทย์จุฬาฯ รุ่นที่ ๕๘
จำนวนผู้เข้าชม : 111