ประวัติสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์

MDCU Alumni History

post Image

กาลเวลาลุล่วงมาจนถึงปี พุทธศักราช 2515 เมื่อคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถือกำเนิดมาครบ 25 ปี (โดยรวมตั้งแต่ที่ได้เริ่มก่อตั้งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 นาม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยคณะแพทยศาสตร์ และต่อมาภายหลังเปลี่ยนมาเป็น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย) ผลิตบัณฑิตแพทย์ออกไปแล้วกว่า 20 รุ่น บรรดาศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ จึงได้รวมกลุ่มกันในนาม “คณะกรรมการศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์” มี นพ.ธงชัย ปภัสราทร เป็นประธาน นพ.ยาใจ ณ สงขลา เป็นรองประธานได้เห็นพ้องต้องกันว่าจะจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี แห่งการก่อตั้งให้เป็นงานใหญ่ (เคยมีการจัดงาน 15 ปีแพทย์จุฬาฯ มาแล้ว) และได้มอบหมายให้ นพ.ประกอบ บุรพรัตน์ (นาวาอากาศโทในขณะนั้น) เป็นประธานจัดงาน

ในระหว่างการเตรียมงานเฉลิมฉลองนั้น คณะกรรมการศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ ก็มีความมุ่งหมายเพิ่มเติมขึ้นด้วยว่า สมควรจะจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ขึ้น โดยจะนำรายได้จากการจัดงานเป็นทุนประเดิมสำหรับสมาคม

การจัดงานเฉลิมฉลองแห่งการก่อตั้งครั้งแรกที่ทำขึ้นเพื่อในโอกาสครบรอบ 25 ปี นั้น จัดขึ้นในคืนวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 เป็นงานฉลองครั้งแรกยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้เคยจัดมาจัดขึ้นที่สนามภายในบริเวณคณะแพทยศาสตร์ ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง และมีรายได้จำนวนหนึ่งนำเป็นเงินทุนการในการจัดจั้งสมาคมตามมุ่งหมาย

กลุ่มผู้ริเริ่มก่อตั้ง

ประกอบด้วยอาจารย์ทางคณะแพทยศาสตร์ส่วนหนึ่ง กับตัวแทนของแพทย์จุฬาฯ รุ่นต่างๆ ด้วยอีกส่วนหนึ่ง รวม 43 คน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธงชัย ปภัสราทร เป็นประธานได้ร่วมพิจารณาแนวทางการดำเนินการจัดตั้ง และมอบหมายแบ่งงานเป็น 4 ฝ่าย เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2516 ดังนี้

ฝ่ายตราสารสมาคม ประกอบด้วยบุคคล 9 คน รวมเป็นคณะกรรมการยกร่างระเบียบข้อบังคับของสมาคมฯ มี นพ.ทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ เป็นประธาน นพ.สมปอง สุวรรณชีพ นพ.จรัส สุวรรณเวลา นพ.นิสิต ลีละวงศ์ พญ.ทรรศนีย์ บุณยัษฐิติ น.ท.นพ.ประกอบ บุรพรัตน์ นพ.ประธาน สูตะบุตร พญ.อรศรี รมยะนันทน์ และ นพ.ศุภวัฒน์ ชุติวงศ์ เป็นกรรมการ

ฝ่ายบริการมี นพ.สาคร สุภาสงวนรับผิดชอบ

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มี นพ.นิสิต ลีละวงศ์รับผิดชอบ

ฝ่ายทะเบียนมี นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์รับผิดชอบ

กลุ่มผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ ได้เลือก นพ.ธงชัย ปภัสราทร นายกชั่วคราว นพ.ยาใจ ณ สงขลา เป็นอุปนายกชั่วคราว และ นพ.นิสิต ลีละวงศ์ เป็นเลขาธิการชั่วคราว ระหว่างการดำเนินการการจัดจั้งสมาคมฯ โดยเห็นว่าเป็นประธาน รองประธาน และเลขานุการ ของคณะกรรมการที่จะจัดงานเฉลิมฉลอง 25 ปี อยู่แล้ว ซึ่งก็ได้ดำเนินงานต่อมาจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516 แล้วได้จัดการประชุมใหญ่ของเหล่าศิษย์เก่า เพื่อขอรับมติรับรองข้อบังคับของสมาคมฯ ที่ได้จัดร่างขึ้น

กลุ่มที่ยกร่างระเบียบข้อบังคับของสมาคมฯ ได้จัดประชุมกันครั้งแรกในวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 และได้ทำการร่างระเบียบขึ้น โดยมีแนวทางของการทำงานของสมาคมเพื่อให้บริการแก่สมาชิกและเพื่อช่วยเหลือการกุศลกับ ได้ศึกษาถึงความไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของแพทย์สมาคมฯ มาใช้เป็นอุทาหรณ์ในการดำเนินการงานของสมาคมฯ ด้วย การยกร่างตราสารสมาคมฯ ได้ทำเสร็จและเสนอต่อคณะกรรมการ ริเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 เพื่อแก้ไขรับรองขั้นหนึ่งก่อน

ในการประชุมใหญ่ศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ที่ตึกอบรมวิชาการมีศิษย์เก่ามาร่วมประชุมรวมทั้งสิ้น 150 คน ได้มีการแก้ไขร่างระเบียบที่คณะกรรมการยกร่างเสนอเล็กน้อยและรับรองร่างระเบียบ กับรับรองคณะกรรมการชุดเดิมที่ดำเนินการอยู่ให้ดำเนินงานต่อไปในขณะที่ทำการจดทะเบียนสมาคม จนกว่าจะมีการประชุมใหญ่ศิษย์เก่าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมและคณะกรรมการบริหารใหม่ นอกจากนั้นจากการจัดงานเฉลิมฉลอง 25 ปี ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเงินทุนที่มีอยู่เดิมรวมเป็นเงินประมาณ 400,000 บาท

ในระหว่างที่ดำเนินการนั้น ได้จัดตั้งสำนักงานชั่วคราวของสมาคมฯ ขึ้นที่ห้องหน่วยแพทยศาสตร์ศึกษาซึ่งอยู่ชั้นบนตึกสำนักงานคณบดี (ปัจจุบันตึกนี้รื้อทิ้งแล้วและสร้างตึกอานันทมหิดลขึ้นแทน) โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำคือ คุณไขนภา ธนะโสภณ (ภัทรายุตวรรตน์) ทำหน้าที่จัดทำทะเบียนรวมทั้งงานธุรการอื่นๆ (กรกฎาคม 2516)

หลังจากนั้น นพ.นิสิต ลีละวงศ์ ก็ได้ดำเนินการเพื่อขออนุญาตจัดตั้งสมาคมฯ จากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติและจากกรมการศาสนา ตามขั้นตอนในสมัยนั้น จนในที่สุดก็ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งได้

"สมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์" ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งอย่างเป็นทางการตามเลขที่อนุญาตที่ ต.173/2516 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2516 หลังจากนั้นได้นำไปจดทะเบียนกับกองตำรวจสันติบาล เลขลำดับที่ จ.1221

คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในรุ่นบุกเบิก ก่อนจะมีการเลือกตั้งคณะผู้บริหารสมาคมฯ อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย

นายกฯ รักษาการ ศ.นพ.ธงชัย ปภัสราทร

กรรมการ

  • นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
  • น.ท.นพ.ประกอบ บุรพรัตน์
  • นพ.สมปอง สุวรรณชีพ
  • พญ.สุมนา เอื้อไพบูลย์
  • พญ.อรศรี รมยะนันทน์
  • นพ.ศุภวัฒน์ ชุติวงศ์
  • นพ.เจตน์ เกียรติสุนทร
  • นพ.พูลพงศ์ อิทธิพงศ์
  • ร.ต.อ.นพ.สันติ จันทร์วิเมลือง
  • นพ.เกรียงไกร อัครวงศ์
  • พญ.ผจง คงคา เป็นเหรัญญิก
  • และ นพ.นิสิต ลีละวงศ์ เป็นเลขานุการ

วัตถุประสงค์ของสมาคมที่ระบุไว้ในเอกสารตั้งสมาคม คือ

  1. ส่งเสริมความสามัคคี และผดุงเกียรติของสมาชิก
  2. สงเคราะห์ช่วยเหลือสมาชิก
  3. ส่งเสริมการศึกษาและแพร่วิทยาการ
  4. กระทำการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง

คณะกรรมการในยุคนั้นได้วางแนวทางในการดำเนินการงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับศิษย์เก่า มีการออกจดหมายเวียนแจ้งข่าวสารถึงศิษย์เก่า มีคอลัมน์เกี่ยวกับศิษย์เก่าในจุฬาลงกรณ์เวชสารโดยเฉพาะ อีกทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดส่งจุฬาลงกรณ์เวชสารให้แก่สมาชิกสมาคมด้วย และทำการเสนอชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายเพื่อรับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มีการออกแบบสอบถามความต้องการศิษย์เก่า อีกทั้งได้เตรียมการเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งคณะผู้บริหารสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ในการประชุมใหญ่ครั้งต่อไป

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ได้จัดให้มีการเลือกตั้ง โดยที่ประชุมเสนอชื่อศิษย์เก่าที่เหมาะสมจำนวน 20 คน ให้สมาชิกที่เข้าร่วมประชุม (123 คน) เลือกและในที่สุดก็ได้ผู้ที่ได้รับเลือกคะแนนสูงสุด 10 ท่านแรก เข้ามาเป็นคณะผู้บริหารของสมาคมฯ ประกอบด้วย นพ.สาคร สุภาสงวน นพ.ประกอบ บุรพรัตน์ นพ.นิสิต ลีละวงศ์ พญ.อัมพร สุคนธมาน นพ.ศุภวัฒน์ ชุติวงศ์ นพ.วิชัย โปษยะจินดา นพ.เกรียงไกร อัครวงศ์ นพ.จรัส สุวรรณเวลา นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์

คณะกรรมการบริหารชุดนี้ได้ประชุมกันในวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2517 และมีมติเป็นเอกฉันท์เลือก น.ท.นพ.ประกอบ บุรพรัตน์ (ยศในขณะนั้น) เป็น นายกสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์คนแรก (อย่างเป็นทางการ) ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่รุ่นที่อาวุโสสูงสุดเพราะ นพ.ประกอบ จบแพทย์จุฬาฯ รุ่น7 ก็ด้วยเห็นว่ากระตือรืนร้น มีความคิดริเริ่ม มีศักยภาพในการพัฒนาองค์กรอย่างมาก แต่ นพ.ประกอบ ก็ขอให้แพทย์จุฬาฯ รุ่นพี่ๆ ได้ช่วยรับเป็นกรรมการตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งได้มีการเชิญกรรมการแต่งตั้งเข้าร่วมงานเพิ่มเติมอีก 8 ท่าน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของบรรดาศิษย์เก่าทั้งหมด

คณะกรรมการบริหารสมาคมสมัยชุดแรก (2517-2519)

post Image

นายกสมาคมฯ นพ.ประกอบ บุรพรัตน์

อุปนายก นพ.จรัส สุวรรณเวลา

เลขาธิการ นพ.นิสิต ลีละวงศ์

เหรัญญิก พญ.ทรรศนีย์ บุณยัษฐิติ

นายทะเบียน นพ.ศุภวัฒน์ ชุติวงศ์

สวัสดิการ นพ.สาคร สุภาสงวน

ปฎิคม พญ.อัมพร สุคนธมาน

วิชาการ นพ.เกรียงไกร อัครวงศ์

สาราณียากร นพ.วิชัย โปษยะจินดา

จัดหารายได้ นพ.ประทีป กสิวัฒน์

ประสานงานโรงพยาบาล นพ.อติเรก ณ ถลาง

ประสานงานกาชาด นพ.เจียมศักดิ์ สุทธภักติ

ประสานงานคณะฯ นพ.เสรี ร่วมสุข

ประสานงานนิสิต พญ.ภิรมย์ สุคนธาภิรมย์

กรรมการกลาง นพ.ธงชัย ปภัสราทร

กรรมการกลาง นพ.กรณ์กิจ มุทิรางกูร

กรรมการกลาง นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์

กรรมการกลาง นพ.จรูญศักดิ์ ศึกษาศิลป์

งานริเริ่มของสมาคมฯ ในยุคแรก ประกอบด้วยการให้สวัสดิการและการบริการกับมวลสมาชิกและครอบครัว ได้แก่การกระจายข่าวสาร การให้ทุนการศึกษา ทุนวิจัย การประสานงานให้ศิษย์เก่าใช้ห้องสมุดของคณะ การจัดทำบัตรตรวจโรคพิเศษให้กับศิษย์เก่าและครอบครัว กับการส่งเสริมวิชาการ ได้แก่การจัดส่งจุฬาลงกรณ์เวชสารให้สมาชิกศิษย์เก่า การจัดทำข่าววิชาการ การร่วมจัดประชุมวิชาการประจำปีและการจัดการฝึกอบรมวิชาการด้านต่างๆ รวมถึงการให้ศิษย์เก่าส่งคนไข้เข้ามาปรึกษาได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังเน้นการสื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแต่งตั้งกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาล สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ และนิสิตแพทย์

นอกจากนั้นยังมีการดำเนินการเชิญสมาชิกกิตติมศักดิ์ ในสมัยแรกได้เชิญสมาชิกกิตติมศักดิ์ที่เป็นคณบดี และอดีตคณบดี 6 ท่านคือ ศาสตราจารย์หลวงพรหมทัตตเวที ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส ศาสตราจารย์หลวงประกิตเวชศักดิ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวี ตุมราศวิน นายแพทย์สมัค พุกกะณะเสน และมีสมาชิกพิเศษ คือ อาจารย์ของคณะที่มิได้จบจากจุฬาฯ 8 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์พงษ์ ตันสถิตย์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมาน มันตาภรณ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญเลี้ยง ตามไท ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัญพัฒน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศริ บุษปวณิช ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงคุณมานา บุญคั้นผล ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม จิตรปิมา ศาสตราจารย์ นายแพทย์จุตรพร หงสประภาส

กิจกรรมอื่นๆ ที่ริเริ่มก็มีการแข่งขันกอล์ฟ การอวยพรวันเกิดอาจารย์ผู้ใหญ่ และการร่วมงานเกษียณอายุของอาจารย์ เป็นต้น

คณะกรรมการบริหารชุดแรก ได้จัดทำป้ายสมาคมฯ ติดตั้งด้านหน้าคณะ (บริเวณรั้วติดถนนราชดำริ) และทำ พิธีเปิดป้ายสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ในวันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมัค พุกณะเสน คณบดีขณะนั้นเป็นผู้ทำพิธีเปิด

คณะกรรมการบริหารชุดแรกยังได้ริเริ่มงานโครงการใหม่ๆ อีกหลายโครงการ นอกเหนือไปจากประสานสัมพันธ์ที่ทำอยู่เดิมแล้ว อาทิ

โครงการ Lecture tour จัดทีมแพทย์จุฬาฯ ไปบรรยายให้คำปรึกษาและสาธิตด้านศัลยกรรมตามโรงพยาบาลต่างจังหวัด โดยพยายามจัดทีมที่มีประสิทธิภาพและตรงตามความประสงค์ของโรงพยาบาลแต่ละจังหวัดที่สนใจขอมา ครั้งแรกได้เดินทางไปให้ความรู้ที่จังหวัดศรีสะเกษในวันที่ 16-18 เมษายน 2518 อาจารย์ที่ร่วมเดินทางไปคือ นพ.อติเรก ณ ถลาง (ศัลยกรรม) นพ.สัจพันธ์ อิสราเสนา (อายุรศาสตร์) นพ.ศุภวัฒน์ ชุติวงศ์ (สูติ-นรีแพทย์) และ นพ.นิสิต ลีละวงศ์ (จักษุแพทย์)

สารศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ได้พัฒนาขึ้นเป็นรูปเล่ม มีเนื้อหาด้านวิชาการทางการแพทย์เพื่อให้ศิษย์เก่าได้ติดตามความก้าวหน้าด้านวิชาการ กับเปิดโอกาสให้มีการซักถามปัญหาด้านการแพทย์ทุกสาขา ซึ่งจะได้จัดผู้ชำนาญในสาขานั้นตอบโต้ตรงถึงผู้ถาม กับกระตุ้นให้ศิษย์เก่าได้เสนอผลงานวิชาการของตนเองในการประชุมวิชาการประจำปีของคณะที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมทุกปีด้วย ในส่วนวิชาการนี้มี นพ.เกรียงไกร อัครวงศ์ ซึ่งขณะนั้นปฎิบัติงานอยู่ที่ รพ.รามาธิบดี เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง

คณะกรรมการสมาคมชุดแรกนี้ได้ริเริ่มที่จะจัดสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 8 ซึ่งได้ดำเนินการต่อในรุ่นถัดมาจนสำเร็จ

นอกจากนั้นยังได้รณรงค์ในการเชิญชวนศิษย์เก่าสมัครสมาชิก เพราะในระยะแรกนั้นมีสมาชิกประมาณ 200 คน หรือคิดเป็น 10 % เท่านั้น

สมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ยังทำหน้าที่เป็นองค์กรในการจัดงานเฉลิมฉลองการก่อตั้งคณะซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปี โดยมีเหตุผลที่ว่านิสิตในขณะที่ศึกษาอยู่นั้นในช่วง 4 รุ่น จะมีความสนิทสนมกันอยู่แล้ว แต่เลย 5 รุ่นจะไม่รู้จัก เพราะเรียนไม่ทันกัน การร่วมงานจะได้รู้จักรุ่นพี่หรือรุ่นน้องอื่นๆ เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

คณะกรรมการบริหารสมาคมสมัยต่อมาได้สืบสานเจตนารมณ์และร่วมผนึกกำลังบรรดาศิษย์เก่าในการจัดทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ได้ริเริ่มจัดทำโครงการเสริมเพิ่มเติม และพัฒนาปรับโครงการเก่าให้ได้ประโยชน์มากขึ้นเป็นลำดับ

กองทุนช่วยเหลือศิษย์เก่า

และครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อน

กองทุนสำหรับการช่วยเหลือครอบครัวศิษย์เก่าที่ประสบปัญหา
ดำเนินการภายใต้มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย