People of MDCU

คิดถึง MDCU

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ คุณหมอผู้นำการศึกษาไทย

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ คุณหมอผู้นำการศึกษาไทย

ในบทความก่อนหน้านี้ เราได้เสนอเรื่องราวของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯหลายท่านที่น่าสนใจ ทั้งในด้านการเป็นแพทย์และการทำงานเพื่อสังคมอันเป็นประโยชน์มากมาย ในเดือนนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราได้สัมภาษณ์ศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯผู้ทรงเกียรติอีกหนึ่งท่านที่ไม่เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ แต่ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ในบทสัมภาษณ์นี้นอกจากจะกล่าวถึงประวัติการเรียนและการทำงานของท่าน ยังสอดแทรกด้วยแนวคิดและหลักการดำเนินชีวิตที่น่าสนใจซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้เป็นอย่างดีทั้งในด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว

 

“เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตแพทย์ธีระเกียรติ”

ตอนนั้นเป็นแบบเด็กไม่ได้เรียนแล้วก็ไม่ได้กิจกรรมนะ ก็ใช้ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัยปกติ ถ้าทำกิจกรรมผมไปที่ฝั่งจุฬาฯนู้นเลย ฝั่งศาลาพระเกี้ยวก็มีชมรมต่างๆ เมื่อก่อนเขามีชมรมจิตศึกษา ไม่รู้เดี๋ยวนี้ยังมีหรือเปล่า เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้เด็กเรียนอะไร แต่ก็ไม่ได้บ้ากิจกรรม ถ้าเป็นพวกบ้ากิจกรรมเนี่ย ส่วนใหญ่เขาก็จะออกไปจิตอาสาเยอะ ส่วนผมก็ดูแลตัวเอง (หัวเราะ) แล้วก็ไปเรื่อยนะ ส่วนเรียนก็ไม่ได้บ้าเรียน ตอนเรียนจบก็ได้ประมาณ 3.06

 

“เส้นทางการไปเรียนต่อด้านจิตเวชศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ” 

ตอนนั้นผมจบแล้วผมก็ไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลจิตเวช ขอนแก่น ตอนนั้นคือชอบหมด เรียนอะไรก็ชอบหมด พอไปใช้ทุนก็ชอบ บังเอิญตอนนั้นมีทุนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จริงๆคือทุนของรัฐบาล สมัยนู้นรัฐบาลเขาจะมีหน่วยงานในราชการ เขาก็จะขอทุน มหาวิทยาลัยขอนแก่นเขาก็ขอ ตอนนั้นผมบังเอิญใช้ทุนปีที่2 ก็ไปสอบ สอบ2 วิชา ภาษาอังกฤษกับจิตเวช ด้วยความที่รักภาษาอังกฤษมาตั้งแต่มัธยมแล้ว บวกกับจิตเวชซึ่งเป็นวิชาที่ทำอยู่ก็เลยง่ายหน่อย ก็เลยได้advantage ก็สอบได้ ก็ไปเรียน สักพักนึงก็พบว่าถ้าเราไปเรียนโดยที่ไม่ได้เป็น training เป็นresident ก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ ก็เลยสมัยเข้า training program เป็น resident 

 

“ความแตกต่างของการเรียนแพทย์ที่อังกฤษกับที่ไทย”

ต่างกันมาก มันเปลี่ยนความคิดเราเลย ยกตัวอย่างเช่น พอผมไปถึงเขาบอกว่า ward round จิตเวชเขาไม่มี ไม่เห็นต้องไปยืนราวน์ข้างๆเตียงเลย ตอนผมจะสั่งยาครั้งแรกก็ไม่เห็นมีใบขาว พวกคุณมีใบขาวฝั่งซ้าย ฝั่งขวาใช่มั้ย ที่นู่นไม่มี เขาเป็นใบสั่งยา พยาบาลเขาจะไปจัดการเอง คือสังคมไม่เหมือนกัน เขาจะไม่มีลักษณะว่าเราใหญ่ แล้วเราไปสั่งเขา พยาบาลเขาก็ทำงานร่วมกับเรา ไม่มี uniform แล้วบรรยากาศต่างมาก การเรียนเองเนี่ยเยอะ ผมจำได้วันแรกที่เข้า เขาเรียกสัมมนา เขาโยนหนังสือมาให้เล่มนึง หนาปึ้กเลย บอกว่าพวกเธอ4 คน คราวหน้ามาเสนอทั้งเล่ม 15 นาที คือการเรียนด้วยตัวเองเยอะ ที่สำคัญที่สุดคืออาจารย์เก่งๆ สถาบันที่เราอยู่อาจารย์เค้าทำวิจัยระดับโลก เขามีองค์ความรู้ที่ดี ที่ประเทศอังกฤษเค้าเน้นเรื่อง basic มาก และการดูแลทางสังคมก็ดี เขามีแพทย์ GP เป็นหลัก คือระบบมันต่างกัน วิธีการคิดมันต่างกัน ก็ไม่เน้นท่องจำมาก เน้นให้คิดให้เยอะ ให้รู้ว่าเรารู้หรือเปล่า คำถามที่ผมจบแล้วเนี่ยได้มา2 คำถามแล้วก็ยังติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ เวลาสอนresident คือ  คุณรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่คุณรู้นี่ถูก นอกจากรู้ได้ยังไงแล้วมีหลักฐานอะไรยืนยันสิ่งที่คุณรู้?” เพราะฉะนั้นวิธีการเรียนต่างกัน คร่าวๆเป็นแบบนี้ ผมแนะนำให้ไป อย่าอยู่ที่นี่เลย หมายถึงไปแล้วเรากลับมา ถ้าผมไม่ได้ผ่านหรือจบที่ประเทศอังกฤษ  ผมก็ไม่มีโอกาสเหมือนวันนี้ ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ได้เห็นการศึกษา บังเอิญผมจบแล้ว อยู่ๆอาจารย์เขารัก ก็ชวนกลับไปกลับมา สุดท้ายก็กลับไปอยู่ที่นู่น 

 

“เมื่อสมัยยังเรียนแพทย์ อาจารย์วาดภาพตัวเองไว้อย่างไร”

ตอนเรียนแพทย์ก็ไม่ได้วาดไว้ชัดเจนมาก รู้อย่างเดียวว่าอยากไปเรียนเมืองนอก รู้อย่างเดียวว่า ไม่ไปสหรัฐอเมริกาก็ไปอังกฤษ คือผมอยากจะรู้ว่าโลกภายนอก เทรนนิ่งแพทย์เป็นอย่างไร “ไม่ได้คิดจะทำงานเกี่ยวกับการเมือง สาธารณชนแบบนี้” ก็เหมือนทั่วๆไปของคนอยากเป็นหมอ อยากจะมีเทรนนิ่งที่ดี แต่ไม่ได้คิดจะเทรนเมืองไทย ยังไงก็จะหาทางไป ก็โชคดีได้ทุน และเราก็รักภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ถือเป็นบันไดที่สำคัญ

พอตอนอยู่อังกฤษก็แปลก กะว่า
หนึ่ง “อย่างไรก็ต้องกลับมาเมืองไทย เพราะว่าหนึ่งเรารักเมืองไทย
สอง อย่างไรก็คิดว่าเราเป็นคนไทย ก็คิดแค่นี้ คิดเหมือนคนทั่วไป ก็กลับมา อยากแต่งงานมีลูก ทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็แสวงหาว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร ผมไปหาครูบาอาจารย์ อย่างอินเดียนี่ไป 20-30 ครั้ง ตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ ไปทุกปี ก็คิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ชีวิตเราดี ในแง่ว่ามีความสุขกับชีวิต เมื่อก่อนก็ไม่รู้จักคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงแต่เราก็ดำเนินชีวิตแบบนั้นนะ ไม่ได้วาดฝันอะไรไกล ที่สำคัญนะ เรารู้ว่าเราจะดูแลตัวเองอย่างไรให้เราอยู่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนเขา แบบนี้ ง่ายๆ (หัวเราะ) กินให้ง่าย นอนให้ง่าย ทำงาน มีลูกมีแฟนที่ดี

 

“ความหมายของความสุขในชีวิตเมื่อตอนนั้นกับตอนนี้”

ผมว่าดีขึ้นเรื่อยๆนะ ผมว่าอย่าไปฟังใครเลยนะอย่างนักปราชญ์หรือใครก็ตามที่มาบอกเรา เขาไม่ใช่เรา เราสามารถ monitor ตัวเองได้ว่าตอนนี้เรามีความสุขหรือเปล่า หรือว่ากำลังทุรนทุราย อยากได้นั่นนี่ เพราะเราอยากได้เราก็ไม่ค่อยสุขละ พอเราขาดเราก็อยาก หรือพอเรามีล้น เช่นก่อนดูหนัง อยากดูมาก ดูแล้วมีความสุข หรือตอนอยากกินอะไร เราก็คาดหวัง พอเราทำเสร็จ เรานึกว่ามีความสุข แต่แว้บเดียวก็หมดละ เพราะฉะนั้นเรา monitor ตัวเอง แต่แน่นอน คำสอนของครูบาอาจารย์ หรือแม้แต่ของพระพุทธเจ้าหรือพระเยซู หรือแม้กระทั่งอาจารย์เรา เราก็ลองดูว่า เราใช้ได้หรือเปล่า แต่ผมว่า Monitor ตัวเองนี่แหละสำคัญสุด คือเนื่องจากเราผ่าน เรารู้ว่าอะไรมีค่ากับชีวิต อะไรทำให้เรามีความสุข มีช่วงหนึ่งเราหงุดหงิดๆ หรือทำอะไรไม่มีความสุข แต่พอเราได้ทำงาน หรือทำประโยชน์ให้ใคร บางทีไม่พอใจลูกหรือภรรยา แต่พอมีงานต้องทำเนี่ย เพราะ “เราได้ทำงานให้คนอื่น แล้วพอเราเห็นเขามีความสุขนะ เราก็มีความสุข” เอ้อ มันดีกว่ายาอะไรทั้งหลาย เพราะงั้นเรา monitor ตัวเองได้ว่าเราทำอะไรมีความสุข คนที่ไม่เคยช่วยคนอื่นเนี่ยเขาไม่รู้หรอก

 

“คติประจำใจ”

ไม่มีนะ อย่าไปเชื่อนะประโยค “ทำอะไรให้ดีที่สุด” ผมว่าแค่เราต้อง monitor mental state ของเรา รู้ว่าอะไรที่ทำให้เราขมขื่นหรือทุกข์นาน นี่แหละคติประจำใจ จริงๆ “mind your mind’’

จริงๆ mind นี่ขึ้นกับหลายอย่าง สังเกตไหมเวลาเธอป่วยเธอก็ไม่ค่อยมีความสุข สังเกตไหมเวลาเธอแก่หรือป่วยแล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ monitor mind ยากที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าเธอจะฝึกหรือปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่น่ะ ถ้ารอให้ป่วยแล้วมาฝึกน่ะมันยากกว่าเดิมหลายเท่า เธอต้องฝึกเป็นนิสัย แล้วก็อย่าคิดว่าชีวิตกำลังดูสดใส เดี๋ยวก็ตายได้นะจะบอกให้แป้ปๆ แป้ปเดียวไปเลยไป เมื่อคืนที่ผมดูรายการ national geographic Lady Diana จากเดิมที่ชีวิตข้างหน้าอย่างกับ fairy tale แต่งงาน แล้วก็มีปัญหาครอบครัวมีอะไรในที่สุด แต่ว่าตอนที่เค้าออกมาให้สัมภาษณ์น่ะ ช่วงที่เค้ามีความสุขที่สุดคือช่วงที่เค้าได้ทำงานเพื่อสังคมทำอะไรพวกนั้น อย่างที่ผมบอก มันเป็น antidepressant เป็นยาที่ดีนะ เพราะฉะนั้นคติประจำใจผมไม่มีหรอก ไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ เราไม่รู้จริงๆ ผมไม่ได้พูดเชิงปรัชญานะ หมายถึงว่าเราก็ใช้คติประจำใจนี้ “mind your mind” เดี๋ยวหาว่าเป็นจิตแพทย์เลยพูดแบบนี้ แต่ไม่ใช่

 

“จุดเริ่มต้นของทำงานทางด้านบริหารหรือว่าสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ”

เอาจริงๆ นะ ตั้งแต่เด็กๆ หรือจนกระทั่ง 4-5 ปีที่แล้วไม่เคยคิดจะเป็นรัฐมนตรีอะไร ก็คิดว่าผมก็จะเป็นหมอ ลูกกับภรรยาก็ดีนะ เราอยู่ที่ประเทศอังกฤษ พอประมาณ4 ปีที่แล้วเนื่องจากผมอยู่ที่ประเทศอังกฤษก็มีผู้ใหญ่ไปพบ ส่วนใหญ่ไม่ว่าเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องทั่วๆไป เรื่องส่วนตัวก็คือเราเป็นจิตแพทย์เด็ก เค้าก็พาลูกมาให้เราดู เรื่องทั่วๆ ไปก็พอรู้จักมักคุ้นกันก็สนิท ก็ชอบพอกันก็มีอยู่วันนึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 4 ปีที่แล้วก็จะตั้งมูลนิธิ ซึ่งเสนอ อาจารย์ ศาตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย เป็นประธานมูลนิธิเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กก็มีคนไปติดต่อผมว่าให้ช่วยกลับมา เพราะว่าเราทำงานการศึกษาเกี่ยวกับเด็กที่นู่นอยู่ไง มาช่วย set up ตรงนี้หน่อย ผมก็มาปี 2557 ตั้งใจจะมาปีเดียวแล้วกลับ มาแล้วดันมีการปฏิวัติ ผมมาเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคมปฏิวัติ ช่วงนั้นการเมืองวุ่นวายมาก ตอนนั้นปฏิวัติผมก็ไม่ได้อะไร แต่เนื่องจากทำการศึกษาอยู่ คสช. สมัยนั้นพลเอกณรงค์ ที่พัฒนาสายดนตรีคนแรกของ คสช.การศึกษาเนี่ย เค้าก็บังเอิญได้พบผม ก็ไม่ได้รู้จักกัน คุยกันแล้ว เค้าก็เชิญผมเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ผมก็ไปช่วยท่าน พอเปลี่ยน ครม. ครั้งแรก 2 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2558 อยู่กับ พลเอกณรงค์ได้ 10 เดือนก็มีการปรับ ครม. ท่านนายกก็ให้ พลเอก ณรงค์ไปเป็นรองนายก แล้วก็ให้พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณมาเป็นรัฐมนตรีศึกษา แล้วก็เลื่อนให้ผมจากผู้ช่วยรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรีช่วย ต่างกันนะ รัฐมนตรีช่วยคือเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีก็เป็นรัฐมนตรีแหละ พออยู่มาถึงจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สวรรคต พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ก็โปรดเกล้าให้ พลเอกดาว์พงษ์ เป็นองคมนตรี ตำแหน่งรัฐมนตรีเลยว่าง ท่านนายกก็ปรับ ครม. แล้วให้ผมเป็น มาแบบง่ายๆ แบบนี้เลยเนอะ ง่ายๆ แบบนี้ในที่นี้ก็คือ เราก็ทำงาน ผมคิดว่าท่านนายกก็เห็นว่าเราทำงาน ผมก็เลยมาเป็นรัฐมนตรี  มันก็ดีนะ ดีในแง่ที่ว่าผมรู้สึกอย่างที่บอก เราได้ทำงานหลายอย่าง อย่างเพื่อนผมที่อังกฤษที่เขาเป็นจิตแพทย์ อาจารย์ผมเขาก็บอก วันที่ยูได้เป็นรัฐมนตรีเนี่ย เป็นวันที่youเป็นจิตแพทย์เด็กที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก ผมก็บอกยูพูดงี้ได้ไง เขาก็บอกว่าเขาตรวจเด็กเนี่ย เขามีอิทธิพลต่อคนเดียว ต่อครอบครัวเขา แต่หนึ่งการตัดสินใจของยูเนี่ย มีอิทธิพลกับเด็กเป็นล้านเลย อย่างเช่น หลายเรื่องน้อง ๆ อาจจะไม่รู้ เอาง่าย ๆ เลย เราตัดสินใจเรื่องงบประมาณเกี่ยวกับเด็กยากจน เรื่องอาหารกลางวันหรืองบประมาณที่ลงไปช่วยเหลือเด็กยากจน ปีนึงหลายพัน เมื่อก่อนพวกข้าราชการเขาอาจจะจัดรูปแบบนึงซึ่งไปไม่ถึงเด็กทุกคน เราเข้ามา เราก็รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เราก็จัดใหม่ อะไรแบบนี้ ของง่าย ๆ ที่อยู่เบื้องหลังการทำงาน หรือนโยบายหลายอย่างที่ผมตัดสินใจเปลี่ยน การเรียนการสอนทั้งประเทศมันก็กระทบเด็กหลายคน เพื่อนผมก็เลยแซวว่าผมเป็นจิตแพทย์เด็กที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกตอนนี้แทนที่เราเป็นหมอรักษาหนึ่งต่อหนึ่งนะ หรืออย่างที่ดูแลอย่างมหาวิทยาลัยอีกไม่นาน ถ้ามหาวิทยาลัยจะออกจากระบบหรือเรื่องงบประมาณ อย่างการตัดสินใจของผมตอนนี้ก็จะกระทบต่อการผลิตแพทย์เพิ่ม มีการของบผลิตแพทย์เพิ่มอย่างหนักเลย เราก็ต้องดูว่างบของประเทศอะไรเป็นยังไง เราจะเอามาทำอะไรประมาณนี้

 

“การเรียนแพทย์ในประเทศไทยในปัจจุบัน”

ผมภูมิใจนะ ผมชมได้เลยนะว่าการเรียนแพทย์ของเรานี่ดี ผมเคยเจอต่างประเทศ เขาก็ถาม “แพทย์ยู และสาธารณสุขของยูดี ทำไมระบบการศึกษายูยังแย่” สังเกตว่า ถ้าคุณดูดี ๆ เนี่ย ระบบแพทย์ ระบบการฝึกฝนแพทย์เนี่ยเป็นระบบที่สากลมากมาระยะยาวพอสมควร และก็มีคนเก่งเข้ามาเยอะมาก ถ้าเราทำระบบการศึกษาให้ได้แบบนี้ ครูได้แบบแพทย์ ระบบดี มีการฝึกอบรมที่ดีเนี่ย ผมว่าเปลี่ยนมหาศาล  แพทย์ไทยจงภูมิใจ ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ตอนผมสัมภาษณ์เป็น resident ที่อังกฤษ ผมยังจำได้เลย เขาถามผมว่า ถ้ายูอยู่วอร์ดไทยตอนกลางคืน แล้วคนไข้ติดเชื้อที่ abdomen ยูจะทำยังไง ผมบอก ขอให้ยูมั่นใจว่า training ไอดีพอ ที่จะเซฟคนไข้ได้ แล้วถ้าผมไม่รู้อะไร ผมก็จะโทรศัพท์ ปรึกษาหมอแผนกอื่น ยูไม่ต้องห่วงหรอก บังเอิญคนที่สัมภาษณ์ผมเขาเคยมา รพ.จุฬาลงกรณ์ เขาเคยมาประชุมหรือมาทำอะไรไม่ทราบ เขารู้ว่าประเทศไทยนี้เก่ง แล้วเราก็เป็นศูนย์การแพทย์ของบริวณนี้พอสมควรเลยนะ อย่างตะวันออกกลางเขาก็ส่งมา มาตั้งหลายล้านนะ มันก็มีผลกระทบเรื่องคนจน เราก็ต้องคิดด้วย แต่ถ้าถามผมว่าระบบการเรียนแพทย์ของเราที่นี้ ผมว่าไม่แพ้ใคร แต่ก็มีข้อควรระวัง  ก็คือ ขณะที่เรามีภารกิจหลายอย่าง อย่างเช่น เรียนอยู่กับจุฬาฯ กับรามา ศิริราช  ไม่แพ้ใคร แต่การเรียนบางที่อาจจะยังไม่ได้มาตรฐาน มันยังมีความต่างอยู่นะ แต่พวกหนูโชคดี แต่ยังอ่อนอยู่หลายเรื่อง อย่างลูกชายผมมา elective ที่นี้ เรายังอ่อนเรื่องภาษาอังกฤษนะ อ่อนเรื่องการกล้าคิด ว่าง ๆ ไปดู youtube เรื่อง “ไขความลับนักศึกษาแพทย์ Cambridge” ครูพี่แนนเขาไปสัมภาษณ์ลูกผมสองคน เป็นเรื่องจิตอาสา เขาจะพูดเรื่องความอยากรู้อยากเห็นเป็นไง การเรียนเป็นไง 

 

“ประเด็นที่อยากให้นิสิตแพทย์ไทยปรับปรุงแก้ไข และพัฒนา”

สิ่งที่จะบอกต่อไปนี้ คือ ดูแลตัวเองให้ดี ต้องรู้ว่า หนึ่ง โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยและก็คงทนแม้จะเรียกว่าทักษะศตวรรตที่ 21 หรืออะไรก็ตาม อย่าง mind ของมนุษย์ จิตใจมนุษย์ ร่างกายเราไม่ค่อยเปลี่ยนเร็ว เราเรียนแพทย์เราก็รู้ว่า evolution หรือวิวัฒนาการตรงนี้ไม่ได้เปลี่ยนมาก ใจเรานี่ไม่ได้ต่างจากใจสมัยเมื่อ 2000 ปีที่แล้วเท่าไหร่ นึกคำอมตะของพระพุทธเจ้าเตือนมาเรื่อยๆ อย่าตั้งตนอยู่ในความประมาท ก็แปลว่า ณ ตอนนี้ผมว่าทุกอย่างอะไรดีหมดแล้ว แต่ต้องอย่า swing ไปทางทะเยอทะยาน จำไว้ในชีวิตอันนึงนะ คุณไม่ได้ของที่คุณไม่สมควรได้หรอก เมื่อสักครู่ที่ผมบอกมาง่ายๆ คือ ถึงเราไม่อยากได้มันก็มา ถึงเราอยากได้มันก็ดันไม่มานะ เพราะฉะนั้นได้อะไรที่ได้ดั่งใจก็อย่าระริกระรี้ ไม่ได้ดั่งใจก็อย่ากลุ้มใจมากเกินไป ในเรื่องชีวิตฟังไว้ดีๆ Education must be for life and for living ด้วย For living ก็ Make a living หมายถึงว่าทำมาหากิน และอยากเตือนว่าเรื่องของชีวิตถ้าวิเคราะห์ไปวิเคราะห์มาก็ไม่ถึงขั้นต้องไปบวชนะ แต่ถ้าท่านอยากบวชผมก็ไม่ห้าม เพราะบวชเนี่ยคุณก็เอา mind เดียวกันเนี่ยไปอยู่ในป่า ไปอยู่ในวัด Mind นี้มันทุกข์ยังไงไปอยู่ตรงนู้นมันก็ทุกข์เท่ากันแหละ Body อาจจะดีขึ้น เพราะอยู่ตรงนู้นมันมีภาระน้อยนะ เค้าบังคับให้กินน้อย แต่อาจจะไม่ได้จะสบายนัก อันนั้น For life นะเมื่อสักครู่ที่พูดไป ทีนี้ For living สมัยนี้เราก็ต้องดูว่า Skills อะไรที่สำคัญ Skill ที่สำคัญคือภาษาอังกฤษ นอกจากนี้เราเป็นเด็กไทยในโลกนี้หนีไม่พ้น Skillการที่รู้จักดูแลตัวเองอยู่กับคนอื่นได้ Skillทางการแพทย์ เรียนอะไร คุณจะเป็นสาขาอะไรหมอผิวหนัง หมอตา หมอจิตแพทย์ หมออายุรกรรม คุณต้องaim มีaimเลยนะว่ายังไงจะเก่งที่สุดใน field ให้ได้ คุณคิดดูเวลาเราป่วยไปหาหมอ คุณพาพ่อแม่ไปหาอาจารย์ในใจคุณแน่นอน คนเค้าอาจจะคิดว่าอาจารย์ที่เก่งใน field นั้นๆ คนละคนกับคุณก็ได้ แต่ในใจคุณมี aim for คนที่คุณคิดว่าเก่งที่สุด คนไข้ก็ไม่ต่างกับคุณนะ และในที่สุดผลการรักษาหรือว่าเพื่อนๆคุณก็จะเป็นคนบอกว่าสิ่งไหนดี คนไข้กับเพื่อนคุณบอกไม่ใช่คุณคิดนะ ค่าของคุณอยู่ที่คนอื่นบอก คุณดูสัมภาษณ์วันนี้ผมเป็นคนเรียกมาให้สัมภาษณ์ผมหรอ ไม่ใช่ พวกคุณเป็นคนเลือก ว่าคุณจะสัมภาษณ์ใคร เพราะฉะนั้นคนอื่นเป็นคนบอก โอเคมั้ย

 

“ปัญหาเกี่ยวกับจิตเวช”

สิ่งที่จะกำหนดว่าเราจะป่วยเป็นโรคจิตหรือเปล่าคือกรรมพันธุ์ อันนี้ในแง่ของจิตเวชนะ จิตเวชเนี่ยมันดูเหมือน abnormality of the mind หมายถึงว่า mind ที่เจ็บป่วยเนี่ยเป็น เช่นหูแว่ว ประสาทหลอน เซ็งแบบสุดๆ พูดคนเดียวอะไรพวกนี้ ส่วนถ้าถามเชิงปรัชญาที่ลึกซึ้งขึ้นในความหมายของใจป่วย ถ้าเป็น extreme definition  ตราบใดที่คุณยังมีกิเลสคือทุกคนป่วยหมด กิเลสแปลว่าอะไรรู้มั้ย กิเลสที่เค้าว่ามี โลภ โกรธ หลง จริงๆมาจากคำภาษาสันสกฤต กิเลชะ เนี่ย มันแปลว่า มันบิด ครูบาอาจารย์เค้าจะสอนถึงพื้นฐานทางจิตใจเดิมให้อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องมีอะไรมากระตุ้นคุณเลย ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องยั้วะ แล้วไม่ต้องงง หรือโลภ โกรธ หลงเนี่ย อยากก็โลภใช่ไหม ยั๊วะก็โกรธใช่ไหม งงก็หลงอยู่ใช่ไหม งงว่าเอายังไงกับชีวิตดี อะไรคือความจริงถ้าเราไม่มีอารมณ์หรือความรู้สึกพวกนี้มันจะมีความสุข เพราะฉะนั้นของเดิมเขาบอกว่าใจเนี่ยมันเป็นใสสะอาด คุณลองไปดูตัวเอง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า warp การบิดเนี่ยภาษาสันสกฤตเขาเรียก กิเลฉะ คือmindที่ไม่ใส ไม่เรียบ คือมีความอยาก ยั๊วะ เซ็ง ถอย ทำให้ใจไม่happy ถ้าเอา definition แบบนี้อะไรที่เป็นกิเลสถือว่าป่วยหมด แต่ถ้าเราตอบอย่างนี้ทุกคนก็ป่วย ไม่มีใครรักษาใคร จิตแพทย์เองก็เหมือนคนอื่น ก็ยังมีกิเลส แต่จิตแพทย์ควรจะรู้เรื่องว่าเวลาใจป่วย schizophrenia เป็นยังไง bipolar เป็นยังไง severe depression เป็นยังไง เพราะพวกนี้คือสิ่งที่รักษาได้ และทำให้กลับมาเป็น common unhappiness จิตแพทย์เนี่ยเรารักษาให้ abnormal เป็น common unhappiness เราไม่ได้ไปยุ่งกับ common unhappiness ที่เป็นเรื่องสามัญ ผมก็มี เข้าใจไหม

ส่วน common unhappinessของคนเราก็ต่างกัน บางทีเราอกหักแต่ผู้ใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องกระจอก บางทีเราอยากได้กระเป๋าใบนึงแต่ผู้ใหญ่มองว่าไร้สาระ แล้วเราก็บอก เธอไม่เข้าใจฉัน ถ้าเป็นฉันเธอจะรู้ คนเราก็จะคิดอย่างนี้ ผมก็ไม่รู้จะแนะนำเรื่องพวกนี้ยังไง (หัวเราะ) คือ ถ้ามีเวลามาคุยกัน เราถึงจะรู้ทำไมเขาถึงคิดอย่างนี้ 

 

“รู้ได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เราชอบ หรือสิ่งนี้คือสิ่งที่ใช่ เช่นในเรื่องของการเลือกสาขาศึกษาต่อ”

ระบบการสัมผัสของมนุษย์เนี่ยมันมี system เวลาเราเจออะไรที่คิดว่าใช่เลยมันมักจะไม่ใช่ ปล่อยให้เวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง ช่วงนั้นหล่ะเป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจ ถ้ามันยังตงิดๆว่ามันไม่ใช่ก็น่าจะไม่ใช่ แต่ถ้าคิดว่าใช่ แล้วปล่อยเวลาผ่านไป ในช่วงที่ไม่มีอารมณ์มากแล้วยังคิดว่าใช่ นี่แหละใช่ เพราะมนุษย์เราเจออะไรแวบแรกมันจะเป็นเรื่องของอารมณ์ก่อน ถ้าบอกว่าวิชานี้ใช่เลย ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าโอกาสไม่ใช่สูง แต่อาจจะใช่ก็ได้ มนุษย์เรามีconscious เช่น เวลาทำผิด ขโมยของ ฆ่าสัตว์ อาจจะรู้สึกว่าใช่เลยเพราะเป็นเรื่องของอารมณ์ แต่พอถอยมาสักพัก เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว มีอะไรที่ทำให้รู้ว่ามันไม่ถูก เช่น ขึ้นวอร์ดmedicine รู้สึกว่าใช่เลย ก็ใจเย็นๆ ตอนจะลงค่อยตัดสินใจว่าสิ่งนี้ใช่ไหม เรายังเด็ก ยังไม่มีทางเลือกมาก ก็ไปดูว่ารู้สึกใช่เลยที่สูติรึเปล่า ตอนผมนะ ผมชอบหมดเลย ศัลย์ก็ชอบท้าทายดี จิตเวชก็ชอบ สูติก็ชอบขนาดเคยทำรกหลุดจากมือ ถ้าเราอยากเรียนหนังสือ อะไรก็ชอบหมดแหละ ตอนนั้นผมไม่มีagenda เช่นบางคนอยากรวย ก็ไปskin เพราะนึกว่าสบาย มีagendaไง พอเข้าไปจริง ชีวิตอาจจะขมขื่น ในที่สุดสิ่งที่ทำไม่สำคัญเท่ากับstate of mindที่ทำ ว่าทำเพื่อไร อย่างเป็นหมอคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือคุณนะ ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน เค้าเปิดโอกาสให้คุณหมด ไม่ใช่ว่ารวยนะ ไม่ว่าจะทำบุญ ทำให้คนมีความสุข เวลาถามเรื่องเหตุผล คำตอบมักไม่ค่อยhonest ผมสัมภาษณ์นักศึกษาแพทย์มาเยอะตอนที่ผมไปใช้ทุนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมประทับใจเด็กผู้หญิงคนนึงที่สุดเลย honestที่สุดตั้งแต่ผมสัมภาษณ์มา ส่วนใหญ่ถามทำไมอยากเป็นหมอ ตอนเล็กๆครับ ตาหนูป่วยค่ะ หมอข้างบ้านเค้าช่วยชีวิตแม่หนูไว้อะไรประมาณนี้ ผมก็เบื่อ (หัวเราะ) แล้วก็มีเด็กบ้านนอกคนนึงมา เค้าก็ซื่อๆ ถามทำไมอยากเรียนหมอ หนูอยากยกฐานะบ้านหนูค่ะ บ้านหนูจน เราก็ว่าเฮ้ยเด็กคนนี้มัน honest ถามๆก็ตอบง่าย simple ตรงไปตรงมา ไม่ต้องประดิษฐ์ 

 

“สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดในการเป็นแพทย์จุฬาฯ”

ไม่รู้อ่ะ จริงๆ  ประทับใจจุฬาฯ แค่นั้นแหละ 

 

เรียบเรียง:
นางสาวธัญชนก ชูธรรมสถิตย์ นิสิตแพทย์รุ่นที่ 69

สัมภาษณ์:
นางสาวอภิสรา ว่องไวกิจไพศาล นิสิตแพทย์รุ่นที่ 69
นางสาวชนนันท์ ชูชีพชื่นกมล นิสิตแพทย์รุ่นที่ 71

จำนวนผู้เข้าชม : 62

กองทุนช่วยเหลือศิษย์เก่า

และครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อน

กองทุนสำหรับการช่วยเหลือครอบครัวศิษย์เก่าที่ประสบปัญหา
ดำเนินการภายใต้มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย