People of MDCU

คิดถึง MDCU

อาจารย์ส่าหรี “คุณแม่” ของเด็กตัวน้อยๆ หลายพันชีวิต

อาจารย์ส่าหรี “คุณแม่” ของเด็กตัวน้อยๆ หลายพันชีวิต

เนื่องในวันแม่แห่งชาติเดือนสิงหาคมนี้จึงอยากแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับ “คุณแม่” ของเด็กตัวน้อยๆ กว่าหลายร้อยหลายพันชีวิต คุณแม่ท่านนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คืออาจารย์ส่าหรี หรือ “รศ.พญ.คุณหญิงส่าหรี จิตตินันทน์” ของพวกเรานี่เอง ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงาน 55 ปี ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจก่อตั้งและพัฒนาหน่วยดูแลทารกแรกเกิด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อีกทั้งยังเป็น “กรรมการมูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย” ที่ได้ช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กที่ถูกทารุณให้มีโอกาสได้พบกับแสงสว่างในชีวิตอีกครั้ง

 

“เส้นทางการเป็นหมอเด็ก”

ก็ชอบเด็ก อยู่กับเด็กน่ะไม่มีอะไรมาก จะหัวเราะก็หัวเราะ จะร้องไห้ก็ร้องไห้ ตรงๆ ซื่อๆ ตอนนั้นเริ่มเรียนที่จุฬาฯ นี่แหละ สมัยนั้นเค้าเรียกว่า House คือต้องได้รับเลือกก่อนถึงจะได้เป็นแพทย์ประจำบ้านปีหนึ่ง แล้วก็อีกปีหนึ่งก็จะเป็นแพทย์ประจำบ้านอาวุโส ตอนนั้นมีกันแค่ 2 คน จากนั้นก็ได้ทุน Full bright ไปเถลไถลอยู่ที่อเมริกา 4 ปี หลังจากนั้นก็สอบได้อเมริกันบอร์ดคนแรกของภาค มาทำงานแล้วเขาถึงจะส่ง diploma ตามมา 

 

“การก่อตั้งหน่วยดูแลทารกแรกเกิด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์”

ตอนนั้นเป็นหมอคนเดียวที่ประจำตึกสูติฯที่ไม่ได้เป็นหมอสูติฯ (หัวเราะ) หมอสูติฯเขาเป็นคนดูแลเด็ก บางท่านก็บอกว่าจะดูแลเอง แล้วอยู่ไปๆเริ่มไม่ไหวก็จะบอกให้เราไปช่วยดูด้วย มีหมอเด็กคนเดียว เรานี่แหละ ตอนนั้นเด็กเยอะ สนุกดี คลอดวันละเกือบ 50 คน เมื่อก่อนเด็กก็นอนอยู่กับแม่ เราต้องไปเดินเยี่ยม ทีหลังเลยกั้นห้องสำหรับทารกแรกเกิด ต้องตรวจให้เสร็จก่อนแล้วถึงคืนให้แม่ ถ้าเด็กอยู่นานๆก็ร้องจะกันบรรเลง พยาบาลก็ไม่ชอบ โดยจำนวนแล้วเนี่ยถือว่ามากมายมหาศาล ก็คิดนะว่าถ้าเกิดเพลิงไหม้ จะอุ้มกันยังไง (หัวเราะ)  สนุกดี 

ตอนนั้นก็ยังไม่มีหน่วย Neonatology เลย ช่วงแรกที่ไม่ค่อยมีอุปกรณ์ก็ทำเท่าที่ทำได้ ค่อยๆ ของบไปเรื่อยๆ พอเริ่มมีห้องเด็กก็เป็นที่ดูแลเด็กทุกคน ทั้งเด็กป่วยและเด็ก preemie ก็อยู่ตรงนั้นยังปนกันอยู่ ตอนหลังเรามีตึกเจริญฯ1 ถึงได้แยกเป็นห้องๆ มีห้องเด็กใหม่ ห้องเด็กที่รับมาแล้ว 2-3 วัน เด็กที่ส่งแม่ได้ เด็กส่งแม่ไม่ได้เพราะว่าแม่ไม่สบายหรือว่าเด็กไม่สบายก็ต้องเก็บไว้ที่เรา เด็ก preemie ซึ่งเรารับไว้ก่อนแล้วก็ให้แม่มาส่งนม

 

 “การผันตัวจากเส้นทางการแพทย์สู่งานด้านสังคมสงเคราะห์”

ที่จริงมูลนิธิสงเคราะห์เด็กนี่มีมาอยู่แล้ว เราถูกตามมาดูบ้างเป็นครั้งคราวเพราะทำงานอยู่newborn เขาเห็นว่าเกี่ยวข้องจึงเรียกเรามา  พอเกษียณเราว่างเลยมาดูให้ ส่วนใหญ่จะเจอแม่มาคลอดแล้วหายไปเลยหรือเด็กป่วยพามารักษาแล้วไม่มารับก็มี ทราบมาว่ามีการบอกต่อๆกันด้วยว่าถ้าจะทิ้งให้มาทิ้งที่จุฬาฯนี่ ก็ไม่พอใจนะ แต่ในตอนนี้ไม่ใช่มีแค่การทิ้งเด็กอย่างเดียวที่เป็นปัญหา มีเด็กถูก abuse ด้วย physical abuse หรือ sexual abuse ที่เรารับเอาไว้ดูแลด้วย เพราะถ้าขืนส่งกลับไปก็จะถูก abuse อีก  โชคดีหลังๆมีคนมาช่วยอีกคือ อ.สุชาดา2 อ.นวลจันทร์3 อ.จิตรลัดดา4 อาจารย์เหล่านี้เค้ารุ่น 39,27 และ 34 เรานี่รุ่น 5  ก็เลยสบายไป 

 

 “การทำงานอุปการะเด็ก”

เราอยากให้เด็กเขาได้พ่อแม่ ได้อยู่กับครอบครัว เมื่อก่อนเราก็จะออกไปตามพ่อแม่ก่อน ตามที่อยู่ที่เขาให้ไว้ เราก็ออกไปตามเองเลยนะ ตอนนี้เรามีนักสังคมสงเคราะห์ มาช่วยงานส่วนนี้ บางครั้งไปถึงปรากฏว่าไม่มีใครรู้จักพ่อแม่เด็กเลย บอกว่าในตำบลนี้ไม่มีคนนี้อยู่ บางครั้งเราก็เจอยายเจอตา ยายกับตาพอทราบก็ “อ้าว! นี่ฉันมีหลานด้วยเหรอ ลูกบอกว่าแท้ง” บางคนก็ว่า ลูกไปกรุงเทพฯ แล้วหายไปเลย แบบนี้ก็มี หากตายายเขาชอบเด็ก อยากรับไปเลี้ยงดู เราก็ต้องไปสืบอีกว่าเขาเป็นตายายกันจริงถึงจะให้เขามารับไปเลี้ยง แต่ถ้าไม่รับก็เราก็ต้องหาครอบครัวให้ พ่อแม่บุญธรรมที่เราหาให้ก็มีทั้งไทย ทั้งต่างชาติ ตอนนี้ เราให้คนไทยอุปการะ ไปสัก100 กว่าคนแล้ว ส่วนคนต่างชาตินี่ก็รับไปเกือบ 500 คน มันไม่ใช่ว่าจะให้กันได้ ง่ายๆนะ เราใช้เวลานานมากในการเลือกครอบครัวอุปการะครอบครัวหนึ่ง เพราะเราอยากให้เขาเลี้ยงและดูแลเด็กเหมือนเป็นลูก อย่างเช่นถ้าเป็นคนไทย นักสังคมสงเคราะห์จะตามไปดูที่บ้าน ในช่วง 6 เดือนแรก โดยไปเยี่ยม2 เดือนครั้งก็ได้เยี่ยมไป 3 ครั้ง แล้วเขาก็จะส่งข่าวให้เรา ส่วนใหญ่ก็รู้สึกพอใจนะ เขาโอเค สบายดี ถ้าหากว่าเป็นชาวต่างชาติ นักสังคมสงเคราะห์ของเขากับเราจะติดต่อกันทางจดหมาย และคณะกรรมการประชุมประมาณเดือนละครั้ง ถ้ารับเด็กไปแล้วดูแลได้ไม่ดี เราก็จะรับคืนมา แต่ส่วนใหญ่เด็กน่ารัก ก็ไปอยู่ได้ดี

     

 “ความภาคภูมิใจในงานสงเคราะห์เด็ก”

เด็กที่ออกไปอายุ 20-30 ปี บางคนก็กลับมาเยี่ยมเพราะเมื่อโตแล้วก็อยากรู้ว่าคนที่ให้กำเนิดฉัน คือใคร ทำไมถึงทิ้งฉัน ทั้งๆที่มีความสุขอยู่กับพ่อแม่บุญธรรมแต่เขาก็มา บางครั้งก็มาพร้อมกันทั้งครอบครัว พ่อแม่ลูกมากันหมด บางคนที่พ่อแม่ทำมาหากินไม่ว่าง ลูกก็ทำงานไปเรียนไป เก็บเงินพออายุ18 มาเอง พอมาถึงเราก็ดูแลพาเที่ยว พาไปหาพ่อของแม่ผู้ให้กำเนิดเขาตามที่เขาต้องการ เขาก็เห็นเราเป็นญาติผู้ใหญ่ เราก็มีความสุขนะ น้ำตาไหลเหมือนกัน มีคนหนึ่งเรียนดี graduate ก็ชื่นใจ สบายใจว่าตอน matching เราเลือกไม่ผิด คือเราไม่รู้นะว่า match แล้วจะดีหรือไม่ดี เราก็พยายาม กว่าจะได้ไปแฟ้มหนาเลย ก็ “do my best” นะ  

 

เสน่ห์ของงานสังคมสงเคราะห์เด็กที่ทำให้อาจารย์ยังคงทำงานด้านนี้ต่อไป”

ก็เพราะเด็กน่ารักทุกคน “น้ำมูกยืดก็น่าเอ็นดู” เพราะว่าเป็นเด็ก เราเคยไปเจอเด็กที่ถูกทิ้งไว้นะ มดขึ้นรอบหู รอบตา รอบจมูก รอบปาก เห็นแล้วน้ำตาจะร่วง น่าสงสาร เด็กเขาไม่รู้เรื่อง 

..ถึงงานจะเยอะแต่ก็ชิน วันไหนไม่มีงานนี่เหงา เด็กๆนี่ก็เหมือนเป็นลูก เป็นหลานเรา แต่เขาไม่ยอมเรียกแม่ เรียกป้านะ เขาเรียกยาย (หัวเราะ)

 

“ความคิดเห็นของอาจารย์ต่อสภาพสังคมและเด็กกำพร้าในปัจจุบัน และเป้าหมายในอนาคต” 

เราอยากให้เกิด awareness ให้สังคมรับทราบ ให้พ่อแม่ พี่น้องทั้งหลายช่วยกันดูแล ถ้าสมมติว่าต่างคนต่างยังคงทิ้งลูกอยู่ก็จะยุ่ง นักสังคมสงเคราะห์ก็จะยิ่งมีงานหนัก ถ้าเกิดว่าช่วยกันดูแลช่วยกันได้ก็จะดี 

เราอยากให้เด็กได้พ่อแม่ ได้ครอบครัวตั้งแต่ยังเล็ก เพราะ the earlier the better แต่ process ไม่เสร็จง่ายๆ เราต้องตามหาพ่อแม่เด็กจนถึงที่สุด ตามจน exhaust ถึงเจอแล้วเค้าไม่สะดวกรับเลี้ยงก็ต้องให้มาเซ็นยกให้ แล้วเราถึงหาพ่อแม่บุญธรรมอุปการะเด็ก แต่บางคนยังหาครอบครัวอุปถัมภ์ไม่ได้ เราเลี้ยงจนถึงวัยเข้าโรงเรียน ห้องเรามีแค่อยู่นี้ มีห้องเด็กเล็ก เด็กกลาง เด็กโต แค่สามห้อง พอเด็กโตขึ้นบางคนก็อยากมีความเป็นตัวของตัวเอง น้องเล็กมายุ่งก็รำคาญ เล่นของเล่นอยู่แล้วนี่มาแย่ง เขาจะตีกัน เราก็ต้องรีบหาครอบครัวให้ เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ลำบาก ให้สิ่งแวดล้อมช่วยส่งเสริมพัฒนาการ ให้ฉลาด 

 

นิสิตแพทย์ และแพทย์จะมีบทบาทมาช่วยได้อย่างไรบ้าง” 

เราก็อยากให้รู้ ถึงได้ให้เข้ามาเรียนเข้ามาสัมผัสมูลนิธิเด็กสักครั้ง เพื่อที่พอเราออกไปเจอเด็กที่ถูกทิ้งจะได้รู้ว่าควรทำยังไง อันที่จริงการจะได้ช่วยเด็กได้ คือควรต้องป้องกันก่อนที่จะมีการทอดทิ้ง สมมติว่าแม่คนนี้ไม่เคยฝากครรภ์ หรือมาฝากท้องทีไรก็หน้าตาเป็นทุกข์ เราก็น่าจะลองถามดูว่าเป็นยังไง เราก็อาจจะได้ประวัติไว้ก่อน เพราะถ้าเราปล่อยไปเขาอาจจะนำเด็กไปทิ้งที่โรงพยาบาลที่เขาคลอด หน้าคลินิก หรือในที่สาธารณะ ใต้ต้นไม้ก็ได้ ถ้าเราไม่สังเกตเลยเวลาเราไปทำงาน เราก็อาจจะนึกว่าเด็กคนนี้เลี้ยงไม่โต (failure to thrive) คงอาหารไม่พอ ทั้งที่จริงแล้วอาจจะเป็นเพราะเด็กสภาพจิตใจไม่ดี ไม่มีคนดูแล ถ้าเราไม่มีความสงสัยเลยก็จะทำเพียงให้วิตามิน ให้อาหารเสริมซึ่งก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่ถ้าเรา aware ว่าสาเหตุเลยที่เด็กยัง under growth เป็นเพราะอะไร ในครอบครัวของเด็กเป็นยังไง เราก็อาจจะค้นหาไปเจอปัญหาที่ซ่อนอยู่ได้

 

 “สิ่งที่อาจารย์อยากฝากถึงคุณแม่ทุกคนในประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ”

อยากเตือนคนที่คิดจะทิ้งลูกมากกกว่า ว่าให้คิดดีๆก่อน สำหรับบางคนมีปัญหาเยอะ แล้วยิ่งพอมีเด็ก เขาก็คิดว่าจำเป็นต้องทิ้ง บางคน นามสกุลนี้ เราเคยได้ยิน เคยมาทิ้งลูกไว้เมื่อคราวก่อน คราวนี้มาอีกแต่เป็นสามีอีกคนหนึ่งไม่ใช่สามีเดิม เราก็กลุ้มใจ ได้แต่คิดว่าบางทีเขาอาจจะโชคไม่ดี ไม่เจอคนดีสักที น่าจะชวนให้ทำหมัน

 

“สุดท้าย...สิ่งที่ประทับมากที่สุดในการเป็น MDCU” 

ตอนที่สอบตอนนั้น เพื่อนรักกันสมัยเตรียมฯ เขาไปศิริราช เราก็ไม่เป็นไร เราอยู่จุฬาฯได้ เราก็ทำให้ดี ตอนนั้นรุ่น 5 นะ คือไม่ใช่คนเก่งมาก ไม่ใช่คน success อะไรมากมาย แต่ว่าก็ทำได้พอตัวเท่านี้ ลูกๆเยอะ ไปเที่ยวที่ไหน ก็มีคนมาไหว้ คุณหมอส่าหรีใช่ไหม บอกใช่ค่ะ นี่ฉันพาลูกมา อย่างนั้นอย่างนี้ หรือเล่าให้ฟังว่าลูกเขาเคยมา เป็น preemie แล้วเราก็ดูแล ตอนนี้โตอายุ 30 กว่า เป็นหัวหน้าคน อะไรต่ออะไรดิบดี มาเล่าให้ฟัง ชื่นใจ เราไม่ได้จะยึดว่านี่เพราะฝีมือเรา ต้องถือว่าเขาเลี้ยงของเขามาดี ไม่ใช่เรา แต่เราเป็นคนช่วยส่งเสริมมากกว่า

 

หมายเหตุ :

1. อาคารเจริญ-สมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

2. รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุชาดา   ศรีทิพยวรรณแพทย์จุฬาฯรุ่น 39 หน่วยระบบทางเดินหายใจ กุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

3. รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงนวลจันทร์ ปราบพาล แพทย์จุฬาฯรุ่น 27 หน่วยระบบทางเดินหายใจ กุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

4. รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิตลัดดา   ดีโรจน์วงศ์ แพทย์จุฬาฯรุ่น 34 รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และหัวหน้าหน่วยโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต กุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

เรียบเรียง: นางสาวศิวภรณ์ มโนมัยสันติภาพ ที่นิสิตแพทย์รุ่น 69

สัมภาษณ์: นางสาวอภิสรา ว่องไวกิจไพศาล นิสิตแพทย์รุ่นที่ 69

นางสาวธัญชนก ชูธรรมสถิตย์ นิสิตแพทย์รุ่นที่ 69

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์หอประวัติคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
http://bodyandsoul.md.chula.ac.th/th/news/detail/2970

จำนวนผู้เข้าชม : 18

กองทุนช่วยเหลือศิษย์เก่า

และครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อน

กองทุนสำหรับการช่วยเหลือครอบครัวศิษย์เก่าที่ประสบปัญหา
ดำเนินการภายใต้มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย